จวนสิ้นปีทั้งที มีการประมวลเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมามากมาย แล้วสาวกอวกาศอย่างเราจะไม่ประมวลเรื่องเด็ดจากอวกาศก็กระไรอยู่ และไม่น่าเชื่อว่า แม้เป็นปีที่มีวิกฤตโควิดทั่วโลก ก็ไม่อาจหยุดยั้งการค้นพบใหม่ ๆ และงานวิจัยที่น่าทึ่งได้ ว่าแต่มันจะมีอะไรบ้างนั้น เคยผ่านตากันมาบ้างหรือไม่ ตามมาดูกันเถอะ
1 – การระบุตำแหน่งสัญญาณวิทยุลึกลับได้เป็นครั้งแรก


ในห้วงอวกาศ มีการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็วหรือ Fast radio bursts: FRB ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงเสี้ยววินาที บางครั้งมันมีพลังมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 ล้านเท่า แม้นักวิทยาศาสตร์จะตรวจจับการระเบิดนี้มาได้หลายปีแล้ว ทว่า ยังไม่มีใครทราบว่าต้นกำเนิดของการระเบิดนี้มาจากอะไร และสิ่งที่น่าสนใจคือ การระเบิดนี้ บางครั้งเกิดขึ้นในบริเวณเดิมซ้ำ ๆ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด
จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารสาร Nature มีงานวิจัยระบุว่า นักดาราศาสตร์ตรวจจับการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็วในทางช้างเผือกของเราเองได้เป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ใกล้โลกกว่า FRB ที่เคยตรวจพบมาก่อน และมันอาจจะให้เบาะแสสาวไปถึงต้นกำเนิดที่เป็นปริศนาของมันได้ (อ่านรายละเอียดการค้นพบได้ที่บทความ ‘ครั้งแรก! พบการระเบิดของพลังงานวิทยุลึกลับในกาแล็กซีของเราเอง‘)
อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่า FRB เกิดจากอะไร บ้างก็เชื่อว่าเกิดจากดาวนิวตรอน บ้างก็คาดว่าเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ยังไม่อาจสรุปไปในทางใดทางหนึ่งได้
แม้จะยังมีปริศนาให้มาคิดต่อ และยังมีข้อโต้เถียงอยู่มากมาย แต่การค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ เกี่ยวกับ FRB ในปีนี้ก็นับว่า น่าตื่นเต้นและกระตุ้นความสนใจจากทั้งนักดาราศาสตร์และบุคคลทั่วไปไม่น้อยเลย
2 – พบน้ำของดาวอังคารยุคโบราณในอุกกาบาตแอนตาร์กติก
หลายปีก่อนเมื่อมีการค้นพบอุกกาบาตโบราณในแอนตาร์กติกา มันก็ได้กลายเป็นข่าวการค้นพบเกี่ยวกับอวกาศที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งทันที และในปี 2020 นี้เองที่นักวิจัยวิเคราะห์อุกกาบาตและพบว่า อุกกาบาตนั้นมีร่องรอยของคาร์บอนและไนโตรเจน บ่งชี้ว่าดาวอังคารเคยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทั้งแม่น้ำและมหาสมุทรเมื่อในอดีตหลายพันล้านปีมาแล้ว ชี้ให้เห็นว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงนั้น
งานวิจัยในวารสาร Nature ระบุว่า ไนโตรเจนและคาร์บอนบางส่วนบนอุกกาบาต ถูกเก็บรักษาไว้ภายในคาร์บอนเนตทรงกลมซึ่งห่อหุ้มป้องกันไม่ให้สัมผัสกับองค์ประกอบภายนอก หรือสสารบนโลกหลังจากที่ตกลงมาเมื่อ 15 ล้านปีก่อน นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นยังนำชิ้นส่วนจากอุกกาบาตไปผ่านกระบวนการขจัดสิ่งปนเปื้อนที่ผิวหน้าด้วยลำไอออน (Ion beam) ในห้องปฏิบัติการที่ปลอดการปนเปื้อนระดับสูง ทำให้มั่นใจว่า การวิเคราะห์นี้ เป็นผลของการวิเคราะห์เนื้อในแท้ ๆ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน


และพบว่ามันมาจากดาวอังคาร
Credit: kirov-bomj.ru/en/obnaruzhennoe-v-antarktide-shokirovalo-ne-tolko-uchenyh-obnaruzhennoe-v.html
การค้นพบนี้มีความสำคัญ เพราะยุติการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า สารอินทรีย์ที่พบบนอุกกาบาตดาวอังคารในแอนตาร์กติกามีต้นกำเนิดมาจากดาวอังคารจริงหรือไม่ หรือปนเปื้อนสารบนโลกกันแน่ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า อาจเคยมีแม่น้ำ มหาสมุทร หรือน้ำใต้ดินบนดาวอังคาร และมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่นั่นด้วย
และการค้นพบที่น่าตื่นตะลึงนี้ ก็ทำให้มันเป็นหนึ่งในข่าวการค้นพบใหญ่อีกข่าวของปี 2020
3 – ฤๅโลกคือตัวการทำให้เกิดสนิมบนดวงจันทร์?
เป็นเรื่องที่สร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาสตร์ เมื่อข้อมูลจากยานอวกาศจันทรายาน-1 (Chandrayaan-1) แสดงให้เห็นว่ามีบางสิ่งที่คล้าย ‘สนิม’ ปรากฏอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณขั้วดาว เพราะบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำในรูปของเหลวและอากาศอยู่เลย จึงไม่น่าจะทำให้เกิดกระบวนการออกไซด์ ที่สร้างสนิมจากเหล็กขึ้นมาได้


Crtdit : NASA
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายนำทีมโดย ฉ่วย ลี่ (Shuai Li) จึงพยายามหาว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ออกซิเจนหรือน้ำไปสัมผัสกับแร่เหล็กในบริเวณดังกล่าวได้บ้าง จึงเกิดเป็นสมมติฐาน 3 ประการด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ การที่ออกซิเจนจากโลกเดินทางผ่านสนามแม่เหล็กระหว่างโลกและดวงจันทร์ ทำให้ออกซิเจนจากโลกถูกถ่ายเทไปบนดวงจันทร์ เมื่อไปสัมผัสกับแร่เหล็ก จึงทำให้เกิดสนิมขึ้น โดยกระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องมีโมเลกุลน้ำในสถานะของเหลวมาเกี่ยวข้องก็ได้
สมมติฐานนี้อิงจากการค้นพบเมื่อปี 2007 ยานสำรวจคางุยะของญี่ปุ่นพบว่า ออกซิเจนในชั้นบรรยากาศโลกด้านบนสามารถเดินทางไปกับ ‘หางสนามแม่เหล็ก (Magnetotail)’ เป็นระยะทางโดยประมาณ 385,000 กิโลเมตร (239,000 ไมล์) ไปถึงดวงจันทร์ได้
ทฤษฎีนี้จะก่อให้เกิดสนิมบริเวณด้านดวงจันทร์ที่หันเข้าหาโลกมากกว่าจุดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ร่องรอยสนิมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงด้านที่หันเข้าหาโลกเท่านั้น ทีมวิจัยเดียวกันนี้จึงเสนอความเป็นไปได้ที่ 2 คือ ค่าไฮโดรเจนที่ผันผวนไปตามลมสุริยะ (Solar wind) เพราะ ไฮโดรเจนคือตัวที่ขัดขวางกระบวนการเกิดสนิม ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ไฮโรเจนลดลงมันก็อาจเปิดโอกาสเกิดสนิมขึ้นมาได้
สำหรับสมมติฐานที่ 3 นั้นไม่เกี่ยวกับโลก แต่ใครอยากรู้เพิ่มสามารถตามไปอ่านได้ที่บทความ ‘ไขคำตอบ ‘สนิม’ บนดวงจันทร์ อาจช่วยเผยวิวัฒนาการชั้นบรรยากาศโลกได้!’
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)