เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา คณะนักโบราณคดีของอียิปต์ นำโดยซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักโบราณคดีชาวอียิปต์ผู้มีชื่อเสียง ร่วมกับสภาโบราณวัตถุแห่งอียิปต์ (SCA) ประกาศการค้นพบ ‘นครทองคำที่สาบสูญ (Lost Gold City)’ ชื่อว่า ‘เดอะ ไรส์ ออฟ อาเทน (The Rise of Aten)’ อายุเก่าแก่ถึง 3,400 ปี พร้อมเผยภาพวัตถุโบราณที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายประเภท

แรกเริ่มค้นพบโบราณสถานแห่งความรุ่งเรือง

‘เดอะ ไรส์ ออฟ อาเทน (The Rise of Aten)’ ได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ของอียิปต์ (Aten) เป็นโบราณสถานที่มีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยการปกครองของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) ผู้เป็นฟาโรห์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ ในช่วง 1,391 ถึง 1,353 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับยุคทองที่อียิปต์โบราณมีอำนาจสูงสุดในระดับนานาชาติและผลผลิตทางวัฒนธรรมมากมาย โดยคาดว่าเมืองแห่งนี้น่าจะมีช่วงเวลารุ่งเรืองจนถึงยุคฟาโรห์ตุตันคาเมน

นักโบราณคดีค้นพบโบราณสถานแห่งนี้โดยบังเอิญขณะที่ค้นหาวิหารที่ฝังศพของตุตันคามุน ในบริเวณหุบเขากษัตริย์ ในตำแหน่งที่ตั้งของสุสานกษัตริย์ทุต ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ใกล้เมืองลักซอร์ทางใต้ของอียิปต์ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญอันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญหลายแห่งของอียิปต์

การขุดค้นในพื้นที่นี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2020 หลังการเริ่มขุดเพียงไม่กี่สัปดาห์ทีมงานก็ค้นพบอิฐโคลน เมื่อการขุดค้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นักโบราณคดีเริ่มตระหนักว่า พวกเขากำลังขุดพบเมืองที่มีขนาดใหญ่ และมันได้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในโลกอียิปต์โบราณที่ค้นพบในขณะนี้ ถึงกับมีการเปรียบเทียบกับเมืองปอมเปอีของอิตาลีเลยทีเดียว

สภาพพื้นที่ขุดค้นที่เผยให้เห็นกำแพงและสิ่งของเครื่องใช้อายุหลักพันปีที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก
Credit : Xinhuathai

แม้จะอยู่ใต้ดินทรายเป็นเวลาหลายพันปี แต่เมืองนี้ก็อยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร นักโบราณคดีพบผนังและห้องที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนในยุคนั้น

สมบัติล้ำค่าแห่งเมือง The Rise of Aten

ฮาวาสส์กล่าวถึงสิ่งที่ค้นพบว่า “ถนนในเมืองมีบ้านขนาบข้าง กำแพงบางส่วนสูงเกือบ 10 ฟุต (3 เมตร) ตอนนี้ทีมขุดค้นได้ทำงานมากว่า 7 เดือนแล้ว และยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก”

ภาพผนังและกำแพงของเมืองเมื่อเทียบกับความสูงของนักโบราณคดีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ขุดค้น
Credit : Xinhuathai

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

สิ่งที่ค้นพบภายในเมืองโบราณแห่งนี้ ได้แก่ แหวน แมลงปีกแข็ง เครื่องปั้นดินเผาสี เหยือกไวน์ และอิฐโคลนที่มีตราประทับคาร์ทูช (Cartouche) ที่บ่งบอกชื่อกษัตริย์อเมนโฮเทปที่ 3 บ่งชี้ช่วงเวลาการมีอยู่ของเมือง ภาชนะที่บรรจุเนื้อแห้งหรือต้มสุกที่มีน้ำหนักกว่า 22 ปอนด์ (10 กก.) ที่มีข้อความว่า ‘ปีที่ 37 เนื้อสัตว์ที่ตัดแต่งแล้ว สำหรับเทศกาล Heb Sed ครั้งที่ 3 จากโรงฆ่าสัตว์ในคลังของ Kha ผลิตโดยคนขายเนื้อนาม Luwy’

นอกจากอาคารทั่วไปและสิ่งของเครื่องใช้ ยังมีการค้นพบร้านเบเกอรี่ทางตอนใต้ของเมือง แสดงให้เห็นพื้นที่สำหรับเตรียมและปรุงอาหาร (รวมถึงเตาอบและพื้นที่เก็บหม้อ) “จากขนาดของมัน ทำให้เราสามารถระบุได้ว่า พื้นที่แห่งนี้รองรับคนงานและพนักงานจำนวนมาก” ฮาวาสส์กล่าว

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

ปริศนาแห่งเมืองโบราณที่ต้องสืบค้นต่อไป

ถัดจากพื้นที่อยู่อาศัย ทีมขุดค้นกำลังตรวจสอบพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นเขตการปกครองและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีพื้นที่ใช้สอยที่ใหญ่กว่าและมีระเบียบมากกว่า บริเวณนี้มีกำแพงที่จัดเรียงเป็นรูปแบบซิกแซกล้อมรอบพื้นที่และมีจุดเชื่อมต่อที่โดดเด่น บ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ในการรักษาความปลอดภัย

สภาพพื้นที่ที่ขุดค้นหลายมุมภายในเมืองโบราณ
Credit : Xinhuathai

สำหรับพื้นที่ที่ 3 คาดว่าจะเป็นพื้นที่ผลิตอิฐโคลนและสิ่งตกแต่งซึ่งต้องอาศัยฝีมือ เนื่องจากมีการค้นพบแม่พิมพ์หล่อ ที่ใช้ในการผลิตรูปบูชาและองค์ประกอบตกแต่งที่ละเอียดอ่อน ซึ่งน่าจะประดับสำหรับวิหารและสุสาน นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือที่อาจใช้ปั่นด้าย ทอผ้า รวมถึงเครื่องผลิตโลหะและแก้วด้วย

รูปปั้นที่ค้นพบภายในเมือง
Credit : Zahi Hawass/Facebook

นอกจากสิ่งของ นักโบราณคดียังค้นพบ ‘ศพมนุษย์’ ในลักษณะวางแขนไว้ข้างตัวและมีเศษเชือกผูกอยู่ที่หัวเข่า ที่ตำแหน่งที่ฝังและท่าทางของศพนี้ถือว่าค่อนข้าง ‘แปลก’ จำเป็นต้องขุดค้น หาหลักฐานสอบสวนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการฝังศพวัวหรือกระทิงภายในห้อง ซึ่งถือว่าแปลกมาก

ศพมนุษย์ที่ขุดค้นพบในเมือง
Credit : Zahi Hawass/Facebook

“มีเพียงการขุดค้นเพิ่มเติมในพื้นที่เท่านั้น ที่จะเปิดเผยว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 3,400 ปีก่อนได้” ฮาวาสส์กล่าวทิ้งท้าย

ท่าทางว่าในพื้นที่หุบเขากษัตริย์ยังคงมีอะไรให้เราสำรวจค้นหาอีกมากกว่าที่คาด หากติดตามข่าวกันต่อไปเราอาจจะพบอะไรแปลก ๆ จากโลกในยุคโบราณนี้อีกก็ได้

อ้างอิง

Xinhuathai

Gizmodo.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส