เนื่องจากช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระผมถูกจับพลัดจับผลูแบบงง ๆ ไปร่วมงานมหกรรมเกม PAX AUS ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย งานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์ Melbourne Games Week ประจำปี 2018 ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้พบเจอหลายสิ่งเด็ด ๆ ที่ทั้งเซอร์ไพรส์และน่าประทับใจในวงการเกมบ้านเค้า โดยเฉพาะความหลากหลายของสายพันธุ์ “เกมเมอร์” ออสซี่ การจัดงานที่แสดงให้เห็นถึงการคิดมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญคือความรู้ความเข้าใจในตัวเกมเมอร์ของภาครัฐเมืองเมลเบิร์นที่เข้าใจจริงอะไรจริงจนน่าทึ่ง สาธยายยืดยาวน่าเบื่อแค่นี้ก็พอเนอะ ว่าแล้วก็ออกไปทัวร์งานกันเลยดีกว่า!

เทศกาลโชว์ของใหญ่ของทีมพัฒนาบิ๊กเบ้ง

ก่อนอื่นเลย เกมเมอร์คนไหนที่อยากจะเข้างาน PAX AUS จะต้องจองบัตรล่วงหน้ากันเสียก่อน ที่ต้องใช้คำว่าจองล่วงหน้าเพราะการไปต่อแถวซื้อบัตรหน้างานเป็นอะไรที่ค่อนข้างสิ้นคิดเลยทีเดียว เนื่องจากแถวซื้อบัตรยาวเป็นงูอนาคอนด้ากันตั้งแต่วันแรก แถมผู้จัดงานยังจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าผู้ที่หวังมาตายเอาดาบหน้าจะมีโอกาสยืนตายอยู่หน้างานสูง ที่น่าแปลกใจคือบัตรเข้างานก็ไม่ใช่ถูก ๆ (แบบเข้าได้วันเดียวเริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 บาท) แต่ทำไมชาวออสเตรเลียถึงแห่กันมาอยู่ได้แม้ในวันธรรมดา ข้าพเจ้าได้คำตอบอย่างแจ่มแจ้งเรื่องนี้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เยื้องย่างผ่านประตูงานเข้าไป… แม่เจ้าโว้ย! บริษัทเกมชื่อก้องโลกแห่กันมาเพียบเลยนี่หว่า! ไล่ตั้งแต่ Bethesda, Sony, Nintendo, Ubisoft, IO Interactive ฯลฯ ซึ่งแต่ละรายก็เล่นใหญ่รัชดาลัยมากมายและพวกเขายังได้เตรียมกิจกรรมสนุก ๆ มาให้เกมเมอร์ได้เล่นกันอย่างพร้อมเพรียง

เริ่มจาก Bethesda Softworks กันก่อน รายนี้ไม่ได้จัดบู้ธเว่อร์วังภายในตัวงานแต่สถิตตัวเองอยู่ที่หน้าประตูทางเข้า จัดเป็นซุ้มถ่ายรูปน่ารัก ๆ ขนาดกระทัดรัดให้เกมเมอร์มาเลือกพร็อพถ่ายกับฉากหลังสวย ๆ จากเกม Fallout 76, The Elder Scroll Online และ Rage 2 นอกจากนี้พวกเขายังให้นาย Pip Boy ตัวเท่าคนเดินลอยชายไปหาผู้ร่วมงานเป็นระยะ ๆ

หมัดเด็ดของพวกเขาอยู่ด้านนอกศูนย์ประชุม เนื่องจากพวกเขาไปตั้งซุ้มลูกโป่งเป็นตัวละครจากเกมของ Bethesda ตามหน้าร้านเบียร์ริมแม่น้ำแล้วตั้งชื่อว่า Bethesda Lane มันซะเลย เอาใจเกมเมอร์สายเมามายกันแบบนี้เลยทีเดียว

เดินเข้ามาด้านในงานทั้ง Sony, Nintendo และ Ubisoft ต่างไม่ยอมน้อยหน้ากันในเรื่อง “ขนาด” แต่ถ้าให้เรียงตามความแจ่มก็คงต้องยกให้บู๊ธของ Nintendo ที่ขนทั้ง Pokemon Let’s Go และ Super Smash Bros Ultimate มาให้ลองเล่น

ต่อแถวรอเพียงไม่นานข้าพเจ้าก็ได้สิทธิ์เดินเนียนเข้าไป Smash ในฐานะ Solid Snake ในกับเกมเมอร์ออสซี่อีกสองสามคน หลังจากนั้นก็โดน Bowser ถีบตกหน้าผาโดยเร็วพลันจนต้องรีบหนีไปบูธอื่น

สำหรับอันดับสองเห็นจะเป็นบู๊ธของ Ubisoft เพราะมี The Division 2 มาให้เกมเมอร์ต่อแถวลองบู๊ไปด้วยกัน จากที่เห็นมากับตาต้องขอบอกว่าเกมภาพงามงดและลื่นไหลดีเลยทีเดียวสำหรับเครื่อง PS4 แต่ระดับความยากของภาคนี้คาดว่าน่าจะโหดไม่น้อย เพราะเห็นคนไหนเข้ามาคว้าจอยก็ลงไปนอนคุกเข่าคลานหนีศัตรูกันเป็นแถบ มีบ้างที่เป่าศัตรูได้ตัวสองตัวแล้วเต้นท่า Emote ระบำโชว์ แต่สุดท้ายก็โดนบอสบี้ลงไปดับคาเท้าอยู่ดี ซึ่งนอกจาก Division 2 ทาง Ubisoft ก็ใช้พื้นที่เหลือภายในบู๊ธโปรโมทเกมดังที่เพิ่งวางตลาดอย่าง Assassin’s Creed Odyssey หากใครยอมต่อแถวลองเล่นก็จะได้หมวกสปาร์ตันกลับไปสวมเล่น (ส่งผลให้ให้มีเหล่าสปาร์ตันเดินกันสลอนเต็มไปหมดในงาน) นอกจากนี้ใครที่อยากรู้ว่ายานอวกาศในเกม Starlink ถอดประกอบกับจอยยังไงก็สามารถมาลองแกะ ๆ ต่อ ๆ เล่นได้

ส่วนบู๊ธ Sony แม้จะใหญ่แต่ไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ เพราะเกมที่เอามาโชว์ทั้งหมดเหมือนกับในงาน Sony Experience 2018 ที่เพิ่งจัดไปในไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเกม RE2 ก็ยังคิวยาวจนต่อไปก็ไม่ได้เล่นเหมือนเดิม

เล็กพริกขี้หนู (พันธุ์ออสซี่)

ทางฝั่งทีมพัฒนาเกมรายย่อยก็ไม่ได้น้อยหน้ารายใหญ่ในงาน แม้พวกเขาจะสู้เรื่อง “ขนาด” ไม่ได้แต่ก็ขอใช้ “ลวดลาย” เข้าประชัน อย่างเช่น ทีมพัฒนา IO Interactive ที่จัดบู๊ธปิดขนาดกำลังดีให้แฟน ๆ มาลองเกม Hitman 2 กัน ทีเด็ดอยู่ตรงที่ทางทีมงานเล่นจ้างช่างตัดผมมารับโกนหัวให้แฟนพันธุ์แท้ที่ต้องการเป็น Agent 47 มันตรงนั้นเลย! ตัดเสร็จแล้วยังแถมสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดเอาไว้แปะที่หลังหัวด้วยนะ

นอกจากนี้บู๊ธของเกม Fortnite ก็จัดเวทีให้เกมเมอร์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ขึ้นไปประชันท่าเต้น Emote กันแบบสุดสวิงริงโก้ ใครเต้นได้ไม่อายสายตาชาวบ้านก็รับพร็อพ Pick Axe นุ่ม ๆ เป็นของที่ระทึก เช่นเดียวกับเกม Just Dance 2019 ที่จัดเวทีให้คนขึ้นไปเต้นเอามันส์เป็นหมู่คณะตรงโซนก่อนเข้างาน ซึ่งก็มีทั้งผู้เข้ามาร่วมงานทั่วไปและคอสเพลเยอร์ทยอยขึ้นไปเต้นอย่างไม่ขาดสาย

ทางผู้จัดงาน PAX AUS เขากั้นพื้นที่ในงานส่วนหนึ่งเอาไว้ให้ทีมพัฒนาเกมสายอินดี้เท่านั้น

จุดที่ข้าพเจ้ารู้สึกสนใจมาก ๆ ก็คือทางผู้จัดงาน PAX AUS เขากั้นพื้นที่ในงานส่วนหนึ่งเอาไว้ให้ทีมพัฒนาเกมสายอินดี้เท่านั้น เพื่อให้ทีมพัฒนาหน้าใหม่หรือทีมพัฒนาหน้าเก๋าสัญชาติออสซี่มีโซนโชว์ของของตัวเองแบบไม่ต้องกลัวว่าจะโดนบริษัทเกมยักษ์ใหญ่แย่งซีนไปหมด แม้เกมส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นเกมบล็อคบัสเตอร์กราฟิกอลังการแต่พวกเขาก็สู้ด้วยความหลากหลายที่เรียกได้ว่าจัดมาทุกแนวสำหรับเกมเมอร์ทุกสาย ทั้ง 8 bits, FPS, Adventure, Action, VR มากันให้ครบ รับประกันว่าได้เลยว่าท่านจะได้หันไปเจอเกมแนวที่ตัวเองอยากเล่นอย่างน้อยก็ซักเกมนึงล่ะเหวย

นอกจากนี้เกมบ้านเขายังไม่ได้มีแต่ปริมาณ หลายเกมอินดี้จากเมืองเมิลเบิร์นคือเกมดังระดับโลกที่เกมเมอร์ต้องเคยผ่านตามาบ้างแล้ว อย่างเช่น ดิจิตอลบอร์ดเกมนามว่า Armello ของทีม League of Geeks และ Fruit Ninja จากทีม Halfbrick ซึ่งทำนั่นทำให้กระผมประจักษ์ว่าทีมพัฒนาเกมอินดี้บ้านเค้าแม้จะจิ๋วแต่ก็คุณภาพคับแก้วเสียจริง

โลกของเกมเมอร์ช่างกว้างใหญ่

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของงาน PAX ในสายตาของข้าพเจ้าก็คือผู้จัดงานเขาไม่ได้จำกัดคำว่า “เกมเมอร์” ให้ยึดติดอยู่แค่สื่อวิดีโอเกม แต่เขามองว่าเกมเมอร์คือเหล่าผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกม ไม่ว่าเกมนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด จะเก่าจะใหม่แค่ไหนก็ตาม นั่นทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นพื้นที่ยืนของ “บอร์ดเกม” ในงาน PAX ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้โซนวิดีโอเกมด้านหน้า

บรรรดาแฟรนไชส์ร้านบอร์ดเกมในเมืองเมลเบิร์นทั้งหมดต่างพร้อมกันมาจัดบู๊ธอย่างพร้อมเพรียง ขนมากันให้ครบทั้งการ์ดเกม (Magic the Gathering, Coup, Dragon Ball) เกมกระดาน (Monopoly, Pandemic, Fallout The Board Game) และเกมแนวยกทัพหุ่นฟิกเกอร์มาตีกัน (Warhammer, X-Wing)

นอกจากตัวบอร์ดเกม อุปกรณ์ประกอบฉากและอุปกรณ์ทาสีก็มีมาขาย และทางทีมผู้จัดงานยังเอื้อเฟื้อเตรียมโต๊ะเก้าอี้เอาไว้ให้นั่งเล่นบอร์ดเกมเป็น 100 ตัว จัดคอร์สสอนทาสีเบื้องต้น และจัดโซนสอนวิธีเล่นบอร์ดเกมใหม่ ๆ จากผู้พัฒนาเกมรายใหญ่รายย่อยเพื่อโปรโมทผลงานของตัวเองสู่ผู้คนที่เดินผ่านไปมา

ประมาณว่าใครใคร่ซื้อบอร์ดเกมซื้อ ใครใคร่ขายบอร์ดเกมขาย ใครใคร่เล่นบอร์ดเกมเล่น และยังมีสีสันเป็นบอร์ดเกมแปลก ๆ ตลก ๆ อย่างโปรเจ็คเกมแข่งกระดกเหล้าที่ดูหน้าทีมพัฒนาก็รู้แล้วว่าคงเล่นมาเป็น 100 รอบ หรือบอร์ดเกมที่ใช้คั้พเค้กและบ้านขนมปังเล่นกันไปกินกันไปก็มีด้วยนะเออ

นอกจากโซนบอร์ดเกมก็ยังมีโซนเฉพาะสำหรับเกมเมอร์สายพินบอล สายเรโทร และสายเกมพีซีในวงแลนด้วยครับทั่น โดยเครื่องเกมรุ่นเก่าสำหรับเกมเมอร์รุ่นเก๋าได้รับการจัดเตรียมไว้ให้ผู้ที่อยากรำลึกความหลังมาโจ้ได้เลย ข้าง ๆ เครื่องเกมเหล่านี้เรียงรายไปด้วยตู้พินบอลสารพัดธีมให้แฟน ๆ มากดกระแทกลูกเหล็กเสียงดังกรุ๊งกริ๊งเป็นระยะ

ห่างออกไปไม่ถึง 20 ก้าวก็จะเป็นพื้นที่สำหรับเกมพีซีมัลติเพลเยอร์สุดคลาสสิกทั้งหลาย ใหม่หน่อยก็พวก CS GO, DotA, LoL คลาสสิกหน่อยก็พวก Quake, Unreal Tournament, CS 1.7 ซึ่งใครเป็นเกมเมอร์แนวชอบไฝ้กับชาวบ้านก็สามารถดูตารางเวลาแข่งแล้วลงชื่อเข้าไปเล่นได้เลย

ส่วนเกมเมอร์สายกล้าแสดงออกแต่ไม่ได้อยากมาเล่นเกมใดเกมหนึ่งเป็นพิเศษก็เชิญจัดเต็มกับชุดคอสเพลย์ได้เลย แห่มากันตรึม ทั้งสายเล่นเล็ก เล่นใหญ่ เอาฮา เห็นกันได้เกลื่อนไปหมด ที่สนุกก็คือแต่ละคนจัดเต็มกับบทบาทของตัวเองด้วย (อีคอสเพลย์แรพเตอร์ก็จะชอบย่องไปหลอกให้คนสะดุ้งจากข้างหลัง ส่วนนาย Brotherhood of Steel ก็ชอบสาธยายให้ฟังว่าปืนของตัวเองหล่นหายไปตอนทำสงครามกับมิวแต้นท์นะ เคยไปบู๊ในสงคราม The Great War มาแล้วนะ บลา บลา บลา)

ไอเท็มพิเศษแห่งวงการเกมออสเตรเลีย

หลังจากข้าพเจ้าได้เดินวนแล้ววนอีกในงาน PAX AUS ตั้งแต่เก้าโมงเช้ายันเก้าโมงเย็น นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้รับมาแบบเต็ม ๆ แล้ว มันยังทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่าเมืองเมลเบิร์นเปิดใจและทุ่มเททำความเข้าใจกับสื่อเกมมากขนาดไหน ทีมพัฒนาเกมชาวออสเตรเลียคงไม่สามารถพัฒนาเกมเจ๋ง ๆ ออกได้ถ้าพวกเขาไม่มีภาครัฐคอยช่วยหนุนอยู่ข้างหลัง เมื่อพัฒนาเกมเสร็จแล้วเขาก็คงไม่มีพื้นที่โชว์ผลงานหากรัฐบาลปล่อยให้มีแต่บริษัทเกมข้ามชาติรายยักษ์มาซื้อพื้นที่ในงาน PAX ทั้งหมด ส่วนเกมเมอร์ก็จะไม่มีโซนสีสันสนุก ๆ ในงานอย่างโซนบอร์ดเกม โซนเรโทรเกม หรือโซนแข่งเกมหากรัฐไม่เข้าใจเกมเมอร์ดีพอ

หากขาดปัจจัยเหล่านี้ไป งาน PAX AUS ก็คงกลายเป็นงานเกมดาษดื่นทั่วไปที่มีแต่การโฆษณาขายของ และคงไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้วงการเกมบ้านเค้าเติบโตอย่างมีคุณภาพแบบทุกวันนี้ การได้เห็นจะจะกับตาว่าหน่วยงานรัฐบาลของรัฐ ๆ หนึ่งมองอุตสาหกรรมเกมอย่างมีความเข้าในว่านี่คือสิ่งที่สร้างมูลค่าให้กับรัฐหรือประเทศของเขาได้ ไม่ได้มองว่าเกมเป็นแค่งานอดิเรกไร้สาระของเด็ก ๆ แบบที่เราได้ยินกันจนเบื่อในประเทศไทย แค่นี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุดสำหรับข้าพเจ้าแล้วครับผม กระผมก็ได้แต่หวังว่าซักวันหนึ่งบ้านเราคงก้าวไปไกลถึงระดับนั้นได้บ้างนะ 🙂