เรากำลังอยู่ในยุคที่โลกโซเชียลมีอิทธิพลเหนือกฏหมาย ทุกวันนี้ตำรวจ นักข่าว ไม่ต้องหาเบาะแสคดีใด ๆ ทั้งสิ้น คอยตามข่าวบนโลกโซเชียลเนี่ยละ เพจดังหยิบเรื่องไหนมาขยาย เคสไหนคนแชร์กันเยอะก็กลายเป็นข่าวดัง

คดีฆาตกรรมยัดศพใส่รถเข็นรถลงน้ำ ไม่มีใครเห็น ไม่มีกล้องวงจรปิด คนร้ายใช้ชีวิตสุขสบายไปได้ตั้งหลายปี หรืออย่างคดีไอซ์หีบเหล็ก ถ้ามันไม่เมาแพล่มออกมาเองก็ยังมีเหยื่อมาให้มันฝังเล่นได้อีกหลายศพ กลับกันถ้าคุณเตะหมาสักตัว แต่ดั๊นมีกล้องวงจรปิดจับได้ เอาคลิปไปปล่อยลงโลกโซเชียล มึงกลายเป็นอาชญากรสังคมภายในไม่กี่นาที ถึงกับต้องกราบขอโทษหมากันเลย

ที่เกริ่นมาคือหยิบยกให้เห็นอิทธิพลของโลกโซเชียล เพื่อให้ฉุกคิดว่าทุกคนสามารถยับยั้งและส่งเสริมกระแสนิยมในบ้านเราได้

 

กับเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะมา และไม่น่าส่งเสริมนัก คือการที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้ เริ่มสร้างจุดขายด้วยการใช้ “คำหยาบ” มาเรียกร้องความสนใจ หลายปีก่อน มีป้ายร้านขายมะม่วงเขียนว่า “เปรี้ยวจนแทดสั่น” ได้ผลครับ คนแชร์กันว่อนเลย หลังจากนั้นก็มีเจ้าอื่นเริ่มทำตาม พอเห็นแชร์กันบ้างประปราย มันเริ่มจะกลายเป็นกระแสฮิตล่ะ วันนี้เจ้าใหม่แม่ค้าขายแตงโม ภาพที่แนบมานี่ล่ะ เพจใหญ่เอาไปเล่น คนแชร์กันเพียบ สิ่งที่จะตามมาคืออะไร คนขายผลไม้ได้ไอเดีย เออได้ผลวุ้ย วิธีนี้ แค่เขียนให้มันหยาบไว้ เอาอวัยวะเพศมาเล่นแค่นี้ ร้านก็ดัง แล้วต่อไปทุกร้านเกิดตามกระแสนี้กันไปหมดล่ะ บ้านเมืองคงน่าดูนะ

  • ร้านล้างรถ “ล้างสะอาดกว่านี้ ก็จวยเจ้าของร้านแล้ว”
  • ร้านที่นอน “เย็บกันให้สะใจ ต้องใช้ที่นอนร้านนี้”
  • ร้านตัดผม “ตัดหัวพ่องมั้ย ไอ้สัส”

คิดว่ามันเป็นสังคมที่ดีมั้ย มองไปทางไหนก็เห็นแต่ป้ายแบบนี้ ลูกเล็กเด็กแดงก็มองว่า คำหยาบเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา พ่อแม่จะห้ามพูด ห้ามด่าทำไม มองไปทางไหนก็เห็น เราอยากเห็นลูกหลานเรา ตัวกระจ้อย 3 – 4 ขวบ สบถคำเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอย่างนั้นหรือ

ผมเคยอยู่กับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้แค่ 5 นาที อึดอัดและสลดมากครับ วันหนึ่งอินเทอร์เน็ตบริษัทล่ม ต้องไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตดาวน์โหลดไฟล์ที่ลูกค้าส่งมา เด็กจอแจมากครับ เป็นช่วงปิดเทอมเด็กมาเล่นเกมกันเยอะ เสียงที่ได้ยินคลอตลอดเวลาคือ
“ฆวย พ่องตาย เย็บแม่ ไอ้สัด”
เหลือบไปมองเป็นเด็กวัยไม่ถึง 10 ขวบ มีใครชื่นชมยินดีไหมครับ ที่ลูกหลานจะอยู่ในสังคมเหล่านี้ พูดจาด้วยคำหยาบแบบนี้

ผมไม่ได้แอนตี้คำหยาบ ผมเป็นคนพูดหยาบด้วยซ้ำ แต่ก็เลือกใช้

ถ้าใช้คำหยาบในบริบทและสถานการณ์ที่สมควร มันจะสนุก ฮา และสะใจมากครับ
ถ้าน้าค่อมพูด “พี่ครับ เฮอะ ไม่ได้รับประทานผมหรอก” ทุกวันนี้แกจะมีงานไหม
หรือโอ๊ต ปราโมทย์ ดำเนินรายการ The Driver ด้วยความสุภาพเรียบร้อย ต่อให้ร้องเพลงเพราะฉิบหาย โอ๊ตจะดังไหม

ความสนุกอย่างหนึ่งของรายการ The Mask Singer ก็ด้วยความสนิทสนมของเหล่ากรรมการ ที่อำกัน ล้อกัน พร้อมสรรพนาม กู มึง นี่ล่ะ แต่นั่นก็คือบริบทที่เหมาะสม ถูกใช้ในรายการบันเทิงตอนค่ำ
เราไม่สมควรจะได้เห็น ไก่ ภาษิต อ่านข่าวตอน 6:00 น. พ่อ แม่ ลูก ได้ดูพร้อมกันก่อนไปทำงาน ไปโรงเรียน
“คุณผู้ชมครับ วันนี้เรามีข่าวเรื่องพวกเฮี่ยกักตุนหน้ากากอีกแล้วครับ”

บางครั้งบางตอนมันก็สมควรจะหยาบ แต่ไม่ใช่พร่ำเพรื่อ มันก็มีกรณีที่ควรใช้สรรพนามหยาบ ๆ แต่ถ้าอยากจะสุภาพขึ้นมา มันก็ช่างขัดหูขัดตา ตัวอย่างที่ทุกคนร้องอ๋อ ก็คือหนัง Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith
ชาคริต พากย์เสียง อนาคิน สกายวอล์กเกอร์ว่า

“ข้าเกลียดท่านนนนนนน”

Play video

คือมึงแทบจะฆ่ากันตายแบบนี้ ไม่มี “ข้า” “ท่าน” แล้ว ต้อง “กูเกลียดมึงงงงง”
หนังออกจากโรงมา 15 ปีแล้ว ทุกวันนี้คนยังหยิบมาล้อกันอยู่เลย

คำหยาบเป็นภาษาไทย ยังจำเป็นในสังคมไทย ในบางสถานะ หยาบได้ แต่ไม่พร่ำเพรื่อครับ สังคมจะดีจะร้าย ก็ด้วยปุ่ม “แชร์” ครับ