ขณะที่บ้านเรายังคงง่วนกับปัญหาหนี้สินของชาวนา และภาวะเกษตรกรในประเทศไร้ที่ทำกิน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำลงเรื่อย ๆ บวกกับความผันผวนของนโยบายทางการเมือง และการเพิกเฉยต่อการจัดการแก้ปัญหาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จึงทำให้ ‘ข้าว’ สินค้าที่เราเคยคุยโม้โอ้อวดว่าเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ แต่กลับไม่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพลืมตาอ้าปากได้เลย กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ย่ำอยู่กับที่มาหลายสิบปีแล้ว
แต่ในเวทีโลก ปัญหาของ ‘ข้าว’ กลับไปไกลกว่าปัญหาบนพื้นโลกมานานแล้ว
‘ข้าว’ ถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน เป็นแหล่งให้พลังงานเบื้องต้นแก่มวลมนุษยชาติ มีความเกี่ยวพันหยั่งรากลึกกับอารยธรรมมนุษย์มานานกว่า 13,000 ปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่โครงการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ จะพยายามค้นคว้าวิจัย ขยายขอบเขตของการปลูกข้าว และการสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้กว้างไกลกว่าเดิม เพื่อให้เราสามารถผลิตข้าวได้มากขึ้น เลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มขึ้นบนโลกได้ และยังเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางในอวกาศในอนาคตด้วย
เมื่อ ‘ข้าว’ เริ่มออกเดินทางสู่อวกาศ
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 เมื่อมนุษย์เดินบนดวงจันทร์ครั้งแรกในภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11) นักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ยังชีพในทริปอันแสนยาวนานด้านการกินไก่และข้าวแห้งแช่แข็งที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้ออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของนวัตกรรมเพื่อการถนอมอาหาร และนำมาซึ่งเทคโนโลยีด้านอาหารอีกมากมายในภายหลัง ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ยังคงมีไก่และข้าวแบบดั้งเดิมจากภารกิจนี้ให้ได้ชม (อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอาหารอวกาศได้ที่บทความ FOOD IN SPACE เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่แม้ในอวกาศ1 และ FOOD IN SPACE เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่แม้ในอวกาศ2 )


Credit : NASA
แน่นอนว่า นั่นเป็นเพียงการเดินทางในระยะสั้น แต่นับแต่นั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแหล่งพลังงานเพื่อการเดินทางในอวกาศมาโดยตลอด เรื่องราวของข้าวในอวกาศจึงไม่ได้จบลงที่ดวงจันทร์เท่านั้น
การทดลองปลูกข้าวในอวกาศ
นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ยังคงดำรงชีพอยู่ได้ด้วยข้าวและอาหารอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีบรรจุสุญญากาศ การแช่แข็ง และการใช้ส่วนผสมอื่นๆ ลงไปในอาหารที่ขนส่งไปยังสถานีอวกาศ และในขณะเดียวกันก็ทำการทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงไปด้วย
หลังจากการปลูกถั่วลันเตา ข้าวสาลีแคระ และผักใบเขียวประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 2014 สถานีอวกาศนานาชาติก็เริ่มทดลองปลูกข้าวและมะเขือเทศ และสามารถปลูกข้าวได้สำเร็จในเวลาต่อมา นาซาเองก็ทำการทดลองว่า สภาวะไร้น้ำหนักส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวอย่างไร โดยพิจารณาว่า สภาวะไร้น้ำหนักทำให้ผนังเซลล์ของพืชอ่อนแอลง แต่ก็ไม่ได้ยับยั้งการเจริญเติบโตแต่อย่างใด


Credit : NASA


Credit : NASA


Credit : NASA
และไม่ใช่แค่ในวงการอวกาศสากล ประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมหาศาลของโลกและบริโภคข้าวเป็นหลักเฉกเช่นเดียวกันกับไทย ก็เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อขยายขอบเขตการเพาะปลูกข้าวเช่นกัน
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)