จากประวัติความเป็นมาของอาหารอวกาศในบทความที่แล้ว คราวนี้มาที่นานาอาหารอวกาศหลากรูปแบบหลายสัญชาติกันบ้าง

ความหลากหลายของอาหารอวกาศข้ามชาติ

นอกจากกรรมวิธีบรรจุอาหารในถุงแบบแห้งแช่แข็งแล้ว ปัจจุบัน ยังมีการเก็บอาหารแบบฉายรังสี การเก็บแบบคงความร้อน ที่ทำให้สามารถแกะออกมาแล้วกินได้ทันที และยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอีกประเภทหนึ่งคืออาหารกระป๋องซึ่งส่วนใหญ่บรรจุเนื้อสัตว์หรือปลาในเยลลี่ สามารถอุ่นในเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าแบบพิเศษได้ด้วย

อาหารอวกาศกระป๋องสัญชาติรัสเซียในปัจจุบัน
Credit: rbth.com

บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จึงมีเมนูอาหารหลากหลายกว่า 450 อย่าง แค่อาหารรัสเซียก็ปาเข้าไปนับร้อยเมนูแล้ว และด้วยความที่วัฒนธรรมรัสเซียนั้น คอตเทจชีส (Cottage cheese) ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งยังมีแคลเซียมในปริมาณสูง แต่กินไปนาน ๆ นักบินอวกาศก็เริ่มเบื่อ การแลกเปลี่ยนอาหารอวกาศข้ามสัญชาติ เช่นแลกกับกุ้งของนักบินอวกาศชาวอเมริกา และซาชิมิของนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น จึงเริ่มต้นขึ้น 

คอตเทจชีสกับซีบัคธอร์น ในรูปแบบหลอด อาหารอวกาศสไตล์รัสเซีย
Credit: weltraumladen.com

“ซุปรัสเซียนับเป็นรสชาติแปลกใหม่สำหรับผม และผมก็ไม่เคยกินคอตเทจชีสกับซีบัคธอร์น (Sea-buckthorn เป็นเบอร์รีชนิดหนึ่ง) มาก่อนเลย คือมันก็แปลก ๆ แต่รสชาติดีมาก” อเล็กซานเดร แมนกีออต (Alexandre Mangeot) ผู้บัญชาการชาวฝรั่งเศสของภารกิจ Mars 160 ของ Mars Society กล่าว แม้ยังไม่ขึ้นสู่อวกาศ แต่เขาใช้เวลาหนึ่งเดือนบนเกาะเดวอน (Devon Island) ในอาร์กติก ที่ซึ่งทั้งเขาและลูกเรือได้ลองกินอาหารจากห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศของรัสเซีย (Laboratory of Space Food) 

สำหรับอาหารอวกาศของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน แทบจะใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทเดียวกับที่ใช้สำหรับทหาร ภาพด้านล่างคือตัวอย่างของชุดอาหารดังกล่าวที่เรียกว่า ‘ชุดอาหารพร้อมรับประทาน (MRE)’ ซึ่งประกอบไปด้วยถุงใส่ปลาทูน่าที่คงสภาพได้แม้อยู่ในอุณหภูมิห้อง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายของชำ ทั้งยังมีอาหารแห้งที่ผ่านกระบวนการดึงน้ำออก (Dehydrated foods) อาหารที่คงอุณหภูมิ และอาหารฉายรังสีที่สามารถเสิร์ฟได้ทันที สำหรับตัวเลือกนั้นก็มีอยู่หลายสิบเมนู ตั้งแต่มีทโลฟ มันบดและเกรวี่ ไปจนถึงพายมะพร้าว รวมทั้งพาสต้า และอาหารยอดนิยมอื่น ๆ

‘ชุดอาหารพร้อมรับประทาน (MRE)’ ของสหรัฐ
Credit: Wikipedia

ตามปกติแล้วอาหารอวกาศตามแบบฉบับของชาวอเมริกา มักเริ่มต้นวันด้วยไข่และเบคอน ขณะที่ของชาวรัสเซียเป็นซุปนานาชนิด บอร์ชท์ เนื้อแกะ ปลาสเตอร์เจียน สตูเนื้อวัว นมข้นและถั่ว ในการขึ้นโคจรรอบโลกครั้งแรกเมื่อปี 2003 ของจีน นักบินอวกาศ หยาง ลิเว่ย (Yang Liwei) ก็นำข้าวและกับข้าวอย่างหมูเส้นผัด (Yuxiang pork) และ ไก่ผัดถั่วลิสง (Kung Pao Chicken) พร้อมชาจีนสมุนไพร ขึ้นไปรับประทานด้วย ญี่ปุ่นเองก็ไม่น้อยหน้า จัดส่งอาหารประจำชาติอย่างซูชิ ราเมน ข้าวกับบ๊วยดอง และเยลลี่สไตล์ญี่ปุ่น (Yokan) ให้นักบินอวกาศของตนด้วย

นักบินอวกาศจีน หยาง ลิเว่ย (Yang Liwei) รับประทานข้าวและกับข้าวสไตล์จีนในอวกาศ เมื่อปี 2003
Credit: discoverspace.org/
ราเมนทะเล อาหารอวกาศอย่างหนึ่งที่ ๋JAXA หน่วยงานด้านอวกาศของญี่ปุ่นร่วมกับ
นิชชิน บริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้ายักษ์ใหญ่จัดทำขึ้น บรรจุหีบห่อพร้อมส่งไปให้นักบินอวกาศรับประทาน
Credit: commons.wikimedia.org
ชุดอาหารอวกาศแบบครบเซตของญี่ปุ่น
Credit: iss.jaxa.jp

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

นอกจากอาหารจานหลัก ปัจจุบันนักบินอวกาศยังมีอาหารทานเล่นแก้เบื่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ตากแห้ง เนื้อสัตว์อบแห้ง แครกเกอร์ คุกกี้ มันฝรั่งทอดกรอบ ช็อกโกแลต ลูกอม ตลอดจนหมากฝรั่ง เรียกได้ว่าสุขสันต์เปรมปรีดิ์มาก แทบไม่ต่างจากบนโลกเลย

ภาพขณะนักบินอวกาศกำลังรับประทานของว่างในสถานีอวกาศนานาชาติ
Credit: discoverspace.org

อาหารอวกาศใน ‘โลก’ ปัจจุบัน 

นอกจากการผลิตอาหารอวกาศเพื่อเสิร์ฟขึ้นไปในห้วงอวกาศแล้ว เมื่อสองปีที่แล้วห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศของรัสเซีย ยังเปิดตัว ‘สินค้าใหม่’ ผลิตอาหารเหล่านี้สู่ท้องตลาด ให้เราชาวโลกที่แม้ไม่ได้เป็นนักบินอวกาศได้ทดลองกินกันอีกด้วย 

ตามปกติแล้วอาหารอวกาศเหล่านี้ ผลิตออกมาในรูปแบบหลอดและกระป๋องจากโรงงาน Biryulevo Experimental Plant ซึ่งเป็นผู้ผลิตเดียวกับที่ส่งขึ้นไปให้นักบินอวกาศกิน แม้ว่าสูตรอาหารและเทคโนโลยีการแปรรูปจะยังคงเป็นความลับ แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถกินได้เหมือนนักบินอวกาศ

อาหารอวกาศรัสเซียในรูปแบบหลอดที่มีให้เลือกหลากหลายรสชาติ หลายสูตร
สำหรับคำว่า творог บนหลอดแปลว่า คอตเทจชีส ส่วนตัวอักษรเล็กๆ ด้านล่างแสดงให้เห็นส่วนผสมรองของเมนูชีสนี้
เช่น с яблочным пюре (หลอดสีเขียว) ที่มีความหมายว่าซอสแอปเปิ้ล ก็หมายความว่าเป็นเมนูชีสกับซอสแอปเปิ้ล เป็นต้น
Credit: rbth.com
อาหารอวกาศรัสเซียในรูปแบบกระป๋องเมนูต่าง ๆ ซึ่งหน้าตาคล้ายกับกระป๋องทูน่าในท้องตลาด
Credit: rbth.com
หน้าเว็บไซต์ Astro Food ที่แสดงรายการอาหารอวกาศให้เลือก
Credit: astrofoods.ru

อันโตน โลพาติน (Anton Lopatin) วิศวกรชาวรัสเซียกล่าวหลังลองชิมอาหารอวกาศเป็นครั้งแรกว่า “ผมคิดมาเสมอว่า อาหารอวกาศไม่อร่อยเลย แต่บอร์ชท์(ซุปรัสเซีย) จากห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศนี้ มีรสชาติเหมือนกับที่ภรรยาผมทำให้กินเลย แถมบรรจุภัณฑ์แบบหลอดค่อนข้างสะดวกที่จะกินบนรถอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม อาหารอวกาศเกี่ยวผ่านการแปรรูปมาแล้ว แม้จะใช้เทคโนโลยีถนอมอาหารที่ดีเพียงใด แต่ในแง่โภชนาการ ก็สู้อาหารสดใหม่ไร้การแปรรูปไม่ได้ และเพราะแบบนั้น ปัจจุบัน นอกจากส่ง ‘อาหารอวกาศ’ ขึ้นไปสถานีอวกาศนานาชาติ นาซาส่ง ‘ผักผลไม้สด’ รวมทั้งกำลังเร่งหาวิธีที่ยั่งยืนเพื่อปลูกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในสภาวะไร้น้ำหนักด้วย

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 จรวดนิว เชฟเพิร์ด (New Shepard) ของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin)ได้ทะยานสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อปฏิบัติภารกิจขนส่งสิ่งของและอาหาร รวมทั้งกล่องไฮโดรโพนิกสำหรับปลูกพืชน้ำที่กินได้ในอวกาศ (Microgravity LilyPond Chamber) ที่นำไปทดสอบในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ก่อนจะนำกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา

จรวด New Shepard ของ Blue Origin ขณะกำลังเดินทางออกจากฐานในเวสต์ เท็กซัส เมื่อต้นปี 2019
Credits: Blue Origin

ข้อมูลจากห้องไฮโดรโพนิกอันเล็กนี้จะช่วยให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ว่า เทคโนโลยีที่พวกเขาสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเพียงใด

“ในอวกาศ เราต้องการพืชที่ให้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางโภชนาการจำนวนมาก โดยใช้ทรัพยากรและปริมาณน้อยที่สุด และถ้าหากพืชชนิดนั้นสามารถเติบโตได้เร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ทั้งยังมีรสชาติที่ดี นั่นก็ย่อมดีขึ้นไปอีก” คริสติน เอสโคบาร์ (Christine Escobar) รองประธานของห้องปฏิบัติการอวกาศและผู้ตรวจสอบหลักของ Microgravity LilyPond กล่าว

เมื่อพิจารณาจากความต้องการเหล่านี้ ถั่วเลนทิล (Duckweed / water lentils) จึงได้รับเลือกให้เป็นพืชทดสอบ ด้วยปริมาณโปรตีนสูง (มากถึง 45%) และสารต้านอนุมูลอิสระกรดอะมิโนและโอเมก้า 3 ที่อุดมไปด้วยความกรุบกรอบ ทำให้มันถูกเรียกว่าเป็น ‘สุดยอดอาหาร’ หรือ ‘superfood’ แถมมันยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องการดินอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชดังกล่าวก็ยังต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การปลูกพืชน้ำลอยน้ำในอวกาศ นั่นต้องทำให้พื้นผิวน้ำมีความเสถียรและมั่นคง ซึ่งจะช่วยทำให้พืชสัมผัสกับอากาศและสามารถเก็บเกี่ยวได้

ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าถั่วเลนทิลเติบโตภายใน 4 วันในถาดในห้องแล็บบนโลก
Credits: Jared J. Stewart/University of Colorado at Boulder

และด้วยสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เทคโนโลยีนี้จึงอาศัยการปลูกเป็นถาดซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผิวน้ำมีความเสถียร มีระบส่งน้ำผ่านช่องทางเล็ก ๆ คล้ายเส้นเลือดฝอยแบบเปิดจำนวนมาก และยังมีแสงไฟ LED เพื่อให้แสงสว่าง และเมื่อพืชเติบโตพร้อมที่จะนำมากิน ตะแกรงจะหมุนยกมันขึ้นจากน้ำ ส่วนน้ำนั้นก็จะนำไปรีไซเคิลใช้สำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป

กล่องไฮโดรโพนิกสำหรับปลูกพืชน้ำที่กินได้ในอวกาศ (Microgravity LilyPond Chamber)
ที่ช่วยให้ผิวน้ำมีความคงตัวช่วยให้พืชสามารถเติบโตได้ ทั้งยังมีหลอดไฟ LED และตะแกรงหมุนช่วยเก็บเกี่ยวพืชเมื่อโตเต็มที่ด้วย
Credits: Space Lab Technologies

ระหว่างนี้ เราก็ลุ้นกันไปว่าเทคโนโลยีล่าสุดจะมีประสิทธิภาพเพียงพอให้ปลูกพืชผักในอวกาศได้จริงหรือไม่ ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นแปลงปลูกผักในสถานีอวกาศ เหมือนอย่างในภาพยตร์ Martians หรือ ซีรีส์ Away เร็ว ๆ นี้ก็ได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ภาพงานฉลองในสถานีอวกาศคงยิ่งดูสวยงามสดใสมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าแน่ ๆ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส