การศึกษาฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารชีวจิตเวชศาสตร์ (Biological Psychiatry) ระบุว่าการสัมผัสมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศเป็นเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม (Cognitive Decline) และอาจส่งผลให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ก่อนเวลาอันควร

ผลการศึกษาดังกล่าวเผยว่ามลพิษทางอากาศ อาทิ PM 2.5, โอโซนภาคพื้นดิน และไนโตรเจนไดออกไซด์ สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และอาจส่งผลเสียต่อสภาวะด้านความคิดความเข้าใจของมนุษย์

ทีมวิจัยนานาชาติที่นำโดยคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลหัวซานแห่งมหาวิทยาลัยฟูตันในนครเซี่ยงไฮ้ดำเนินการศึกษาข้างต้น โดยใช้ข้อมูลของผู้เข้าร่วม 31,573 คนในแบบสำรวจ Chinese Longitudinal Healthy Longevity Survey ซึ่งเป็นแบบสำรวจด้านสุขภาพและความชรา และข้อมูลของผู้เข้าร่วม 1,131 คนจากกลุ่มการศึกษาเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญพบว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะการสัมผัสโอโซนภาคพื้นดินและไนโตรเจนไดออกไซด์ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ทว่าไม่มีนัยสำคัญด้านการประมาณการ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาระบุว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยอาจอธิบายได้บางส่วนว่าการสะสมของสารแอมีลอยด์ (Amyloid) ในสมองบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : Xinhua

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส