วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยคนใหม่ และผู้ร่วมก่อตั้ง iTax กล่าวถึงภาพรวมของวงการสตาร์ทอัพไทย ที่เป็นสมาชิกสมาคมทั้งสิ้นกว่า 100 ราย พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมามียอดธุรกิจรวมกันกว่า 11,558 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ที่ยอดธุรกิจรวมกันยังไม่ถึง 7,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเมื่อมาดูในรายละเอียด พบกว่า ในจำนวนสตาร์ทอัพทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ มีสตาร์ทอัพที่ยอดธุรกิจไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปีอยู่ 53.1% ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ตามด้วยสตาร์ทอัพที่มียอดธุรกิจ 10-30 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วน 22.4% , 30-100 ล้านบาท มีสัดส่วน 11.2% และสตาร์ทอัพที่ยอดธุรกิจเกิน 100 ล้านบาท มีสัดส่วน 12.6% 

เปิด 7 อุปสรรคสตาร์ทอัพไทย 

หลังจากทำการสำรวจสอบถามสตาร์ทอัพสมาชิก เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในด้านต่าง ๆ พบ 7 ข้อสำคัญ 

70.1% ขาดแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ

40.2% ขาดผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น software engineer , UX/UI Designer

35.5% ขาดการวางโมเดลธุรกิจที่ดี

34.6% ผู้บริหารทำหลายบทบาท ทำให้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ไม่ทันการเติบโต และไม่มีเงินทุนจ้างคนเก่งมาร่วมงาน

31.8% ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ 

30.8% พบปัญหาการทำงานร่วมกับภาครัฐด้านการจัดซื้อจัดจ้าง

27.1% ติดปัญหาการขยายตลาด

เสนอรัฐฯสร้างโมเดลร่วมลงทุน 3 ฝ่าย สนับสนุนบริษัทด้านเทคโนโลยีไทย

นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ระบุอีกว่า เป้าหมายของสตาร์ทอัพไทย คือการมีบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตจนสามารถผลิต ส่งออก และจัดจำหน่ายเทคโนโลยีฝีมือคนไทยไปทั่วโลกได้

“ดูง่าย ๆ ในตลาดหุ้นไทย มีบริษัทด้านเทคโนโลยีน้อยมาก แต่ถ้าหากลองไปดูตลาดหุ้นอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ จะพบว่า เขามีบริษัทด้านเทคโนโนโลยีเต็มไปหมด สิ่งที่ต้องผลักดันคือการทำให้เทคโนโลยีฝีมือคนไทยเป็นที่ยอมรับให้ได้ ต้องเริ่มจากเราคนไทยต้องยอมรับกันเองก่อน”

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย

ขณะเดียวกัน อยากให้ภาครัฐมีบทบาทร่วมกับสตาร์ทอัพมากกว่านี้ อยากเสนอให้มีการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย ได้แก่ สตาร์ทอัพ-VC-รัฐบาลไทย โดยให้รัฐฯเข้ามาช่วยถือหุ้นเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือทั้งกับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยให้ VC เป็นผู้คัดกรองสตาร์ทอัพ ซึ่งเดิมทีเคยมีแต่การให้ทุนเปล่า แต่ยังไม่มีโมเดลดังกล่าวที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ในหลายประเทศอย่างรัฐบาล อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง