เหมือนว่าการผ่อนคลายสมองบางอย่างก็ไม่ได่ส่งผลดีกับสมองเมื่อทำมากเกินไป จากงานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (PNAS) ระบุว่าการดูโทรทัศน์อาจส่งผลเสียต่อระบบการรับรู้ในระยะยาวกว่ากิจกรรมพักผ่อนทั่วไปอื่น ๆ โดยเฉพาะกับภาวะสมองเสื่อม

เหล่านักวิจัยใช้ข้อมูลจากธนาคารชีวภาพอังกฤษในการวิเคราะห์ประชากรอายุสูงกว่า 60 ปี จำนวน 145,000 คน โดยในตอนเริ่มต้นวิจัยในปี 2006 ไม่มีผู้เข้าร่วมคนไหนมีอาการสมองเสื่อมเลย แต่เมื่อผ่านไป 12 ปี ผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน มีภาวะสมองเสื่อม และพฤติกรรมที่สอดคล้องกันในคนเหล่านั้นคือการดูโทรทัศน์เพื่อการพักผ่อน

จีน อเล็กซานเดอร์ (Gene Alexander) นักวิจัยจากอาริโซนาและผู้ร่วมเขียนวิจัยกล่าวว่า “การนั่งนาน ๆ หรือไม่ขยับร่างกายไม่ค่อยมีผลต่อการทำงานของสมองเท่าไรนัก แต่เป็นกิจกรรมที่ใช้สมองน้อยเป็นเวลานาน ๆ ที่จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่า”

โดยเอล็กซานเดอร์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการเล่นคอมพิวเตอร์กับดูโทรทัศน์นาน ๆ โดยการเล่นคอมพิวเตอร์อาจมีการใช้สมองตลอดเวลามากกว่าในการประมวลผลสิ่งที่ทำ ในขณะที่การดูโทรทัศน์มีแนวโน้มจะเป็นการนั่งดูผ่านไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ใช้สมองมากนัก ถึงแม้จะเป็นการนั่งนาน ๆ เหมือนกัน

เดวิเ เรชเลน (David Raichlen) ผู้เขียนนำของงานวิจัยนี้สรุปว่า “ประเด็นไม่ใช่ว่านั่งนานแค่ไหน แต่เป็นสิ่งที่คุณทำขณะนั่งต่างหาก” โดยยิ่งสมองของเราใช้การน้อยมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมมากเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยมาแล้วว่าการนั่งดูโทรทัศน์หรือเสพคอนเทนต์วิดีโอเป็นกิจกรรมยามว่างที่มีการใช้งานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการเล่นคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการไม่ขยับตัวเป็นเวลานานจะไม่ส่งผลเสียเลย เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือการวางแผนจัดกิจกรรมยามว่างของตนเองให้มีประโยชน์มากขึ้น เพื่อรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและสมองตามวัยของเรา

ที่มา: Futurism

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส