สถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว รายงานว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,460 เมกะวัตต์ กลางแม่น้ำโขง ช่วงไหลผ่านแขวงหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาว ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2020 มีแนวโน้มจะแล้วเสร็จและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2030 โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีเขื่อนคอนกรีตที่ทำงานแบบระบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) ตัวกำแพงเขื่อนมีความสูง 79 เมตร และกระแสน้ำจะไหลลดหลั่นด้วยระยะ 29.6 เมตร

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ประกอบด้วยหน่วยกังหันน้ำแบบคาปลาน (Kaplan) แนวตั้ง 7 หน่วย มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,400 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยหน่วยเสริมอีก 3 หน่วย ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มเติม 60 เมกะวัตต์ ทำให้พลังงานทั้งหมดที่ผลิตแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 6,854 กิกะวัตต์ชั่วโมง

ปัจจุบันลาวมีโรงไฟฟ้า 94 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 11,661 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 58,813 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยราวร้อยละ 95 ของครัวเรือนทั้งหมดทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและเหมืองแร่ในลาวเติบโตอย่างรวดเร็วและช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งในลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาวที่ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนประเทศเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทั้งนี้ การจำหน่ายไฟฟ้าแก่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และผลกำไรที่ได้จากการสกัดแร่ธาตุ ช่วยสร้างรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมหาศาลให้ลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : xinhuathai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส