กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) และผู้บริหารบริษัทรวม 13 ราย กรณีการว่าจ้างบริษัท BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ถือเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท BTSC เพียงรายเดียว ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาผู้บริหารและพนักงานบริษัท BTSC ได้แถลงข่าวทวงถามค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และค่าจ้างติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ รวมมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คณะรัฐมนตรีได้มีมติถอนเรื่องพิจารณาคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากยังเป็นข้อพิพาทในกระบวนการพิจารณาของศาล จากประเด็นความไม่โปร่งใสการประมูล กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน และงบประมาณส่วนต่างที่รัฐต้องจ่ายอุดหนุนให้เอกชนผู้ชนะการประมูลสูงถึงกว่า 68,000 ล้านบาท ขณะที่ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการกำหนดรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ที่ทำให้มีเอกชนเข้ามาแข่งขันน้อยรายเกินไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายรถไฟฟ้าหลากสีให้ “ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” ติดตามการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า ต้องมีการจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว

1.ขอให้บริษัท BTSC และกรุงเทพมหานคร ยอมรับและยกเลิกสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ที่เกินเลยระยะเวลาสัญญาสัมปทานและราคาแพงเกินจริง

2.สภาผู้บริโภคเสนอตัวเป็นคนกลางในการร่วมเจรจากับรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และบริษัท BTSC จัดทำสัญญาใหม่โดยให้สิ้นสุดในปี 2572 ภายใต้ระยะเวลาสัญญาสัมปทานเดิม

3.สภาผู้บริโภค มีความเห็นใจต่อพนักงานบริษัท BTSC และเห็นว่า หากบริษัทยุติการเดินรถหรือเลิกเดินรถเร็วขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างท่ามกลางฝุ่นพิษ PM 2.5 และส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทด้วย หรือหากให้รัฐดำเนินการชำระหนี้ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนโดยที่ยังมีข้อที่ต้องวินิจฉัยเรื่องสัญญาว่ายังมีผลตามกฎหมายอยู่หรือไม่ อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวงได้

กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งตะวันตกและตะวันออก

1.ขอให้ยุติการประมูลสายสีส้มตะวันตกครั้งล่าสุด ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และมีข้อพิพาทในชั้นศาลหลายคดี

2.ขอให้มีการประมูลสายสีส้มตะวันตกใหม่ โดยจัดให้มีสามส่วนที่สำคัญ คือ หนึ่งขอให้รัฐเป็นผู้ลงทุนส่วนโครงสร้าง สองจ้างเอกชนในการเดินรถ สามจ้างเอกชนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โฆษณา
เพื่อนำรายได้ลดภาระค่าโดยสารของผู้บริโภค

3.ขอให้เริ่มการประมูลจ้างเอกชนในการเดินรถสายสีส้มตะวันออก และประมูลจ้างเอกชนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโฆษณาเพื่อนำรายได้ลดภาระค่าโดยสารของผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค ขอร่วมเป็นผู้แทนผู้บริโภค ในการเจรจาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อให้
ประโยชน์ตกแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค