นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 104.65 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.56% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 101.07 หดตัว 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเดือนมีนาคม 2566 มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 66.06% และไตรมาสแรกปีนี้เฉลี่ยที่ 63.66% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจยังชะลอตัว

อุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในไตรมาสแรกของปี 2566 คือ เครื่องปรับอากาศ โดยเดือนมีนาคม 2566 มีการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการผลิต ได้แก่ สภาพอากาศร้อน, เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น การดักจับฝุ่น PM 2.5 และตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกเครื่องปรับอากาศเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าสูงถึง 849.60 ล้านเหรียญ ในขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่า 2,272.89 ล้านเหรียญ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากประเทศจีน)

การผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยมุ่งเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 75% และผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศประมาณ 25% โดยตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศไทย คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วนรวม 80% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมดของไทย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส