นายแลร์รี ฟิงก์ (Larry Fink) ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock

นายกฯ หารือซีอีโอ BlackRock บริษัทจัดการเงินลงทุนระดับโลก เชิญชวนลงทุนในไทย

วันที่ 19 กันยายน 2023 เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นายแลร์รี ฟิงก์ (Larry Fink) ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock ผู้นำในการบริหารการเงิน และการลงทุนของโลก เพื่อศึกษาแนวทางการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในภาคการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพื่อขยายฐานการลงทุน และการผลิตในประเทศไทย

ทั้งนี้ ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock แสดงความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Linked Bond) ที่จะออกโดยรัฐบาลไทยในปีหน้า และมีแนวโน้มในการลงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า BlackRock เป็นบริษัทจัดการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2023 อยู่ที่ 9.43 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 310 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง เช่น ประกันสังคม และ กบข. ได้เข้าลงทุนผ่านการซื้อหน่วย Exchange Traded Fund (ETF) ของ BlackRock อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs

การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรียังได้สนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จนถึงปี  2030

สำหรับการดำเนินการของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย

โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2030

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึง และช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี 2027

2. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น การตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี 2027

3. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่เหมาะสม และมีความน่าเชื่อถือภายในปี 2030

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยอีกว่า นอกเหนือจากการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 แล้ว การเดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเชิญชวนนักลงทุนจากสหรัฐฯ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงเวลา 8 – 9 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนต่างชาติเลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส