ถึงตอนนี้เราพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่า ทิม คุก (Tim Cook) บุคคลที่เคยถูกครหาว่าอาจจะพา Apple ลงเหวหลังจากรับตำแหน่งซีอีโอต่อจาก สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ Apple นั้นกลายเป็นบริษัทหนึ่งที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเพียงเท่านั้น เขายังเป็นบุคคลที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการทำอะไรสักอย่างนั้นไม่ใช่การไปลอกเลียนแบบคนอื่น แต่เชื่อมั่นในตัวตนของตัวเองและสร้างเวอร์ชันที่ดีที่สุดขึ้นมาต่างหาก

ในหนังสือ ‘Tim Cook : อัจฉริยะผู้พาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่’ ที่เป็นบันทึกเรื่องราวการทำงานและชีวิตของเขา มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงช่วงหลังจากการจากไปของจอบส์และถูกเพ่งเล็งอย่างมากในการสานต่อตำแหน่ง ซีอีโอ เขาบอกว่า “เขารู้ดีว่าเขาไม่มีทางแทนที่จอบส์ได้”

เขารู้และจอบส์ก็รู้ ตั้งแต่ตอนที่เรียกเขามาหาที่บ้านเพื่อแจ้งข่าวว่าจะให้รับตำแหน่งซีอีโอแล้ว แต่ที่ไม่รู้คือคนทั้งโลก หรืออาจจะรู้แต่ไม่อยากยอมรับ เพราะคาดหวังว่าอยากมี ‘Steve Jobs 2.0’ สักคนเข้ามารับตำแหน่ง เนื่องจากที่ผ่านมาคือ Apple = Steve Jobs มาโดยตลอด แต่จอบส์กลับไม่ได้มองแบบนั้น “เขาเห็นในสิ่งที่คุกเป็น” ความสุขุม นิ่งเงียบ สงบ และการตัดสินใจวางหมากทางด้านการดำเนินงานและธุรกิจที่เฉียบขาด คือสิ่งที่จะพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าได้ คุกให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมรู้ดีว่าคนคนเดียวที่ผมเป็นได้คือตัวของตัวเอง…
“ผมพยายามเป็นทิม คุก ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุกประสบความสำเร็จ เขาไม่ได้พยายามเป็นจอบส์ มั่นคงในสิ่งที่ตัวเองเป็นและนำมันมาใช้กับหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนตรงจุดนี้คือการที่เขาตัดสินใจออกมาประกาศว่า “ตัวเองเป็นเกย์ และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น” ซึ่งเขาเขียนไว้ในบทความบน Bloomberg ว่าการออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้ง่าย ด้วยนิสัยส่วนตัวชอบอยู่เงียบ ๆ และมีพื้นที่ส่วนตัวสูง แต่เขาก็มองว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ถ้าเขาออกมาพูดถึงเรื่องนี้

“ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรม แต่ผมแค่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลประโยชน์จากการเสียสละของคนอื่นมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถ้าการได้ยินว่าซีอีโอของ Apple เป็นเกย์จะช่วยให้ใครสักคนที่กำลังลำบากและต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่ตัวเขา/เธอเป็น หรือช่วยปลอบประโลมใครสักคนที่กำลังรู้สึกโดดเดียว หรือจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนยึดมั่นในความเท่าเทียมกัน มันก็คุ้มค่าที่จะแลกกับความเป็นส่วนตัวของผมแล้ว”

ซึ่งก็สะท้อนกับคำแนะนำที่ จอบส์ บอกกับ คุก ก่อนที่เขาจากโลกนี้ไปว่า
“ไม่ต้องถามว่าผมจะทำยังไง แค่ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พอ”

คำพูดสั้น ๆ แต่เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้คุกมีความกล้าตัดสินใจ ทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้อง ไม่ต้องสนใจหรอกว่าจอบส์จะทำอะไร หลายครั้งมันอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและไม่เป็นไปตามความเชื่อเดิม ๆ ก็ตามที เขากล่าวในวันจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Duke University ในปี 2018 ว่า

“ผมเรียนรู้ว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือการรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะต้องทำลายกรอบความเชื่อเดิม ๆ อย่าแค่ยอมรับสิ่งที่มีอยู่ในโลกที่คุณอยู่ในตอนนี้ อย่าแค่ยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถ้าเราไม่กล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่าง ปัญหาใหญ่จะไม่มีทางถูกแก้ไข และความเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบระยะยาวจะไม่มีทางเกิดขึ้น เราต้องกล้าที่คิดให้แตกต่าง”

คำกล่าวนี้เป็นเหมือนการตอกย้ำความเชื่อที่เขาเคยพูดในการจบการศึกษาของ MIT ในปีก่อนหน้าว่า“อย่าไปวัดผลกระทบที่มีต่อคนอื่นจากจำนวนไลก์ (likes) ที่ได้รับ แต่ให้ดูว่าสิ่งที่เราทำไปแตะกับชีวิตของใครบ้าง ไม่ใช่เรื่องของชื่อเสียงและความโด่งดัง แต่เป็นชีวิตคนที่เราสามารถทำให้ดีขึ้น ผมพบว่าชีวิตของตัวเองมีความหมายมากยิ่งขึ้น ตอนที่ที่ผมหยุดสนใจว่าคนอื่น ๆ จะคิดยังไงกับผม

หลายต่อหลายครั้งในฐานะซีอีโอ คุกต้องพยายามออกจากกรอบเดิม ๆ ทีเป็นอยู่ ยกตัวอย่างล่าสุดการเปิดตัว iMac ตัวใหม่ที่ใช้ชิป M1 ที่มีสีมากกว่า 7 สี เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้นจะมีโทนสีเรียบ ๆ เงิน ขาว ดำ เป็นหลัก แต่ช่วงหลังเราจะเห็นว่าคุกตัดสินใจออกนอกกรอบเดิมแล้วใส่ไอเดียใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่ม ซึ่งหลายไอเดียก็โดนต่อว่าและวิจารณ์อย่างหนักว่าได้สูญเสียความเป็นตัวตนของ Apple ไปแล้ว อย่าง TouchBar ที่ไม่มีใครใช้ หรืออย่าง Butterfly Keyboard ที่เต็มไปด้วยปัญหา หรือการเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์ที่ออกมา แน่นอนว่าการทำเรื่องที่ต่างจากความคาดหวังที่คนอื่นคิดจะนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์เหล่านี้ แต่คุกก็ยังยืนหยัดและเชื่อว่ามันเป็นหนทางที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ และถ้ายึดตามตัวเลขมูลค่าของบริษัทและยอดขาย ก็ดูเหมือนว่าคุกจะตัดสินใจถูกต้องแล้ว

การเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาล้วนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลกระทบระยะยาวที่จำเป็น ยกตัวอย่างเรื่องของการเอาหูฟังกับอะแดปเตอร์ออกจากกล่องของไอโฟนตั้งแต่รุ่น 12 เป็นต้นไป เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์และรอยเท้านิเวศหรือพิมพ์เขียวสิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) ที่เทียบเท่าแล้วเป็นการลดปริมาณคาร์บอนลง 12 ล้านตันต่อปี หรือเหมือนกับการเอารถยนต์ออกจากถนนปีละ 450,000 คันเลย แม้การตัดสินใจครั้งนี้จะถูกมองว่าเป็นแผนการหวังฟันกำไรส่วนต่างให้สูงขึ้นก็ตามที

ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานก็ถูกจับตามองเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน เพราะอัปเดตใหม่ ๆ ของ iOS 14 ตอนนี้จะเพิ่มการจัดการความเป็นส่วนตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกได้ว่าแพลตฟอร์มไหนสามารถติดตามข้อมูลและความเคลื่อนไหวของเราได้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่ามันกระทบกับพวกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่าง Facebook ที่จะได้รับความเสียหายโดยตรงเพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณาแบบ Personalized Ads และ Target Ads ทำได้ยากมากยิ่งขึ้น จนตอนนี้ไอโฟนในมือของเราทุกคนกลายเป็นสนามรบของข้อมูลระหว่าง Apple กับ Facebook ไปโดยไม่รู้ตัว

ทิม คุก เป็นบุคคลหนึ่งในโลกของธุรกิจที่ถูกจับตามองอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร หรือตัดสินใจอะไรมักมีการพูดถึงในวงกว้าง ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ความกล้าหาญและจุดยืนที่มั่นคงของเขาเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้มหาศาล คุก พูดต่อในวันจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Duke University ว่า

“มันต้องใช้ความกล้าหาญในการที่จะเป็นคนแรกที่ยืนขึ้นและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ระหว่างที่คนส่วนใหญ่นั้นพอใจที่จะยอมรับสิ่งเดิม ๆ แบบที่เป็นอยู่”

นั้นคือตัวตนของเขา และเป็นเหตุผลว่าทำไม Apple ถึงยังสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้จนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส