‘ทศพล พิชญโยธิน’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอ แล็บ จำกัด (กลุ่มบริษัท BRIA) ผู้คร่ำหวอดด้านไบโอเทคในประเทศไทย หรือ ‘คุณนท’ หนึ่งใน CEO ทาเลนต์เล่าข่าวเช้า beartai BRIEF ที่ทำหน้าที่มาอย่างยาวนานตั้งแต่แรกเริ่ม กลายเป็นทาเลนต์ขวัญใจอีกคนหนึ่งของแฟนข่าวเช้า จากความเชี่ยวชาญด้านไบโอเทค ธุรกิจ เทคโนโลยี และความสนใจที่หลากหลายและลงลึกของเขาเอง

บทสัมภาษณ์นี้คงไม่ใช่แค่เพียงจะแนะนำให้รู้จักกับตัวตนของเขามากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่มุมมองของเขาในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องธุรกิจ เทคโนโลยี อนาคต น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ข่าวสารของ beartai BRIEF ไม่ใช่แค่ดูเพื่อให้รู้ว่าเมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ดูเพื่อให้รู้ว่า เราจะเตรียมตัวในวันนี้ เพื่อก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างไรบ้าง


ทศพล พิชญโยธิน

อัปเดตชีวิตคุณนทให้แฟน ๆ beartai BRIEF รู้หน่อยว่าทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้ และคุณมาจากไหน ทำอะไรมาบ้าง

สวัสดีครับ ผม ‘ทศพล พิชญโยธิน’ ครับ ทำงานอยู่ที่ กรุงเทพ อาร์ไอเอ (BRIA) ซึ่งปีหน้าก็จะมีอายุ 40 ปีแล้วนะครับ ผมเป็นรุ่นที่ 2 ของบริษัทครับ เดิมทีผมเรียนจบด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนเอกบัญชีด้วย ตอนแรกผมคิดว่าอยากจะเป็นนักการบัญชี ทำงานในธนาคาร อะไรแบบนี้ แต่ว่าตอนที่ผมเรียนใกล้จบประมาณปี 2540 ตอนนั้นก็เริ่มมีวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาพอดี จำได้ว่าสมัยนั้น คนที่จบด้านการเงินค่อนข้างจะหางานยากกว่าคนที่เรียนจบบัญชีโดยตรง ผมก็เลยย้ายไปเรียนบัญชีแทน

พอจบออกมา ห้องแล็บตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ที่เป็นบริษัทของครอบครัวที่คุณแม่บริหารอยู่ มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อเอามาขยายธุรกิจ ก็ประสบเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง ก็เลยเกิดหนี้ก้อนใหญ่พอสมควร ซึ่งตอนนั้นพอธุรกิจมีปัญหา ประกอบกับว่าตอนนั้นหางานยากพอดี ก็เลยถูกดึงตัวเข้าไปทำงาน ตั้งแต่เรียนจบจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 20 ปีแล้วครับ ทำตั้งแต่ดูแลเรื่องฝ่ายขาย ดูแลเรื่องเทคโนโลยี ดูแลเรื่อง Bussiness Development แล้วก็ล่าสุดตอนนี้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารครับ

ทศพล พิชญโยธิน

เทคโนโลยีของโลกยุคนี้ในมุมมองของคุณนทเป็นอย่างไร

เวลาเราพูดถึงเทคโนโลยี ตอนนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วนะ แล้วก็ราคาถูกขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ ตอนนี้เราใช้เงินเท่าเดิม แต่เราได้คอมพิวเตอร์ที่ดีกว่าสมัยก่อนหลายเท่าเลย ในเรื่องเทคโนโลยีก็คล้าย ๆ กันครับ มันดีขึ้น เร็วขึ้น แล้วก็ถูกขึ้น ในส่วนของเราที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็ต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว

การที่เราได้เปิดหูเปิดตา รับข่าวสาร ได้ไปเห็น ได้ไปดูธุรกิจที่ทำแบบเดียวกับเราในต่างประเทศ ว่าเวลาเขาเกิดปัญหา เขาก้าวผ่านตรงนั้นมาได้ยังไง สิ่งที่เราต้องการก็คือข้อมูลที่ชัดเจน แล้้วก็เรื่องของ Cast Study เพราะว่าการเรียนรู้จาก Case Study ที่เป็นตัวอย่างคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด บริษัทที่ยิ่งใหญ่เขาปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงวิกฤติ เขาผ่านมันมาได้อย่างไร เราก็เอาตัวอย่างนั้นแหละมาเป็นตัวอย่างในการที่เราจะผ่านวิกฤติไปให้ได้ สำหรับผม ไม่ว่าส่ิงใดก็ตามที่เกิดขี้นในโลก มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้นแหละ

ผมอยากเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ผมไปศึกษาดูงาน ดูเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถ้าเขาเริ่มใช้ในประเทศต่าง ๆ แล้ว กว่าจะเข้ามาในเมืองไทยก็ต้องรอประมาณ 3-5 ปี เพราะฉะนั้น เรามีเวลาเตรียมตัวว่าเทรนด์แบบนี้ กำลังจะกลายเป็นอนาคต เราก็แค่ไปยืนตรงนั้นและเตรียมตัวให้พร้อม เวลาเปลี่ยนเราจะได้เปลี่ยนแบบไม่เคอะเขิน เพราะเราได้เปลี่ยนแปลงแล้วก่อนที่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ๆ

ทศพล พิชญโยธิน

ในมุมมองของคุณนท คิดว่าเทคโนโลยีอะไรเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก

โลกในสมัยก่อนมันมีช่องว่าง ช่องว่างก็คือการที่คนใช้อะไรแล้วมันเกิดปัญหาขึ้น สิ่งท่ีเราต้องรอ ต้องเข้าคิว ต้องเดินทางไป ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ต้องรอนาน ๆ ใช้เงินเยอะๆ ผมยกตัวอย่างตัวเองนี่แหละ ก็คือเวลาจะซื้อของ มันไม่มีอินเทอร์เน็ต เวลาผมจะสั่งของจากอเมริกา ผมต้องตื่นตี 2 มาเขียนแฟกซ์ เพราะตีสองบ้านเราก็คือประมาณเที่ยง ๆ หรือบ่ายโมงของที่โน่น พอเขาตอบกลับมาตอนเช้าก็สามารถเริ่มงานต่อได้เลย แต่ถ้าเราส่งไปตอนกลางวัน ซึ่งเป็นเวลาดึก ๆ ของเขา กว่าเขาจะตอบกลับมาก็ต้องใช้เวลาอีกวัน มันก็ช้า

แต่ว่าสมัยนี้มันไม่มีช่องว่างแบบนั้นแล้ว ทุกวันนี้กดอีเมลส่งทีเดียวถึงเลย แล้วก็ไม่ต้องรอ ถ้าเขาเห็นอีเมลจากในโทรศัพท์เขาก็จะตอบได้เลย สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกก็คืออินเทอร์เน็ตนี่แหละครับ ที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือความรู้ต่าง ๆ มันก็ง่ายขึ้นเยอะเลย สมัยก่อนกว่าจะไปบอกเขาว่าเราคือใคร ทำอะไร ทำไมคุณต้องมาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ก็ต้องไปด้วยตัวเอง หรือไม่ก็ต้องเขียนจดหมายไปแนะนำตัว ถ้าสงสัยจุดไหนก็ต้องนัดมาคุยกันส่วนตัว

แต่เดี๋ยวนี้ คุณลองหาใน Google หรือลองเข้าในเว็บไซต์ดูก็รู้ข้อมูลส่วนหนึ่งได้แล้ว อย่างที่เราสัมภาษณ์กันอยู่ตอนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไป เพราะว่ามีกล้อง มีอินเทอร์เน็ต มันก็ทำให้ประหยัดยิ่งขึ้น มีโอกาสในการทำธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

ทศพล พิชญโยธิน

ในมุมมองของคุณนท อะไรเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดของ ข่าวออนไลน์ ณ ปัจจุบัน

ข่าวตอนนี้มันมาเร็ว แต่ที่สำคัญคือ ที่มาของมันไม่ชัดเจน การที่ได้เราได้รับข่าวสารมากเกินไป หรือได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มันก็แปลว่าเราเร็วเกินไป (หัวเราะ) เพราะว่าการที่เราทำธุรกิจ เราต้องได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและรวดเร็ว แต่บางทีข่าวเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เราตัดสินใจผิดได้

เพราะฉะนั้นการรับข่าวสารที่มีผู้กรองมาให้เราก่อนจึงสำคัญมาก อย่างเช่น beartai BRIEF เอง ทีมข่าวเราแข็งแกร่งมาก เวลาจะสื่อข่าวอะไรออกไป ก็ต้องได้รับการกรองแล้วว่าเป็นข่าวที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ก่อนที่จะสื่อข่าวออกไปให้ผู้ชมได้ฟัง

ทศพล พิชญโยธิน

คุณนทคิดอย่างไรกับข่าวของ beartai BRIEF

ส่วนตัวผมชอบครับ และคิดว่าประเทศไทยยังขาดสิ่งนี้อยู่ เราไม่ค่อยมีข่าวที่เป็นข้อมูลสำหรับเอาไว้ใช้ในการทำงานมากนักในสื่อไทย แต่ว่าที่นี่มี ซึ่งทุกวันที่ผมอ่านข่าวอยู่ ผมก็ได้ใช้ในการทำงานเองด้วยนะ โดยเฉพาะข้อมูลที่เราอยากรู้ ที่เราต้องการ มันก็มีอยู่ใน beartai BRIEF นี่แหละ เพราะว่าเวลาที่เราอยากตัดสินใจอะไร หรืออยากรู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับอนาคต มันช่วยเราได้มาก

อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่า ธุรกิจที่เราทำมันเป็นปัจจุบันก็จริง แต่เราก็ต้องเตรียมตัวด้วย โดยเฉพาะกำไรที่เราทำธุรกิจ 30% ให้ผู้ถือหุ้น 30% ให้กับพนักงานและคนที่ร่วมงานในบริษัท ส่วนอีก 40% ผมคิดว่าควรจะเป็นเงินสำหรับการต่อยอดธุรกิจ เพราะว่าเมืื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ธุรกิจเปลี่ยนเร็ว เราจะต้องมีเงินก้อนสำหรับไปลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจออกไป นี่คือพูดในภาวะปกตินะครับ

ตอนแรกที่ทำธุรกิจ มันมีการลงทุนสูง ยอดขายก็อาจจะได้ไม่เยอะ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะเริ่มทำกำไรได้ แต่ก็จะไปถึงจุดหนึ่งที่โดน Disrupt แต่สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมั่นคง และมีความมั่งคั่งได้ด้วยก็คือการที่เราลงทุนในอนาคตของบริษัท ต้องมีการลงทุนเพื่ิอสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยหนุนธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ หรืออาจจะทดแทนกันได้ในอนาคต

ทศพล พิชญโยธิน

ข่าวใน beartai BRIEF น่าจะเป็นแนวทางให้เห็นว่า อีกสองเดือน อีกปีหนึ่ง มันจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพราะว่าที่ผมอ่านข่าวทุกวันนี้ เราจะเห็นว่า โลกยุคนี้ มันไม่ใช่แค่ 3-5 ปีเหมือนที่ผมบอกแล้วนะ อะไรที่เกิดขึ้นในโลก อีกไม่กี่เดือนก็เกิดขึ้นที่บ้านเราด้วย ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี เราจึงต้องการสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นตัวกลางที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน และทำให้เราได้รู้และเตรียมตัวเอาไว้ก่อน

แต่ละข่าวที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้มาก่อน เราจะเตรียมใจได้ในระดับหนึ่ง คิดซะว่าเหมือนเรากำลังไปที่ ๆ หนึ่งที่กำลังลำบาก ไม่สะดวกสบาย ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องไปแล้วลำบาก การเตรียมตัวเตรียมใจอย่างน้อยก็ทำให้เราสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราคิดว่า เดี๋ยวเราก็กลับบ้านแล้ว ไม่เป็นไรหรอก เวลาเราเจอปัญหาอะไรก็อาจจะทำให้ไม่สบายใจ ถ้าเราเจอสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เราคิดไว้ว่าจะไม่โอเค เราก็จะสบายใจแล้วส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเจอสิ่งที่ไม่โอเคจริง ๆ อย่างน้อยเราก็เตรียมตัวไว้แล้ว จะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การเตรียมตัวไว้ทำให้เราสบายใจมากกว่า

ทศพล พิชญโยธิน

คำถามสุดท้าย คุณนทคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็จะเป็นประวัติศาสตร์ แล้วมันก็จะซ้ำรอยไปเรื่อย ๆ การที่เรานำเอาส่ิงที่เราเห็น มาคิดประมวลเรื่องราวในอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติ และเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง ในแต่ละวันที่เราได้รับข่าวสารดี ๆ จาก beartai BRIEF เราก็จะสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการที่เราได้รับทราบข่าวสาร

โดยเฉพาะในช่วงเวลาโรคระบาดแบบตอนนี้ ทุกวันนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราจะทำอะไรก็ได้ ไปไหนก็ได้ การที่เราได้รับข่าวสารก่อน เราก็จะมีข้อมูลไว้ใช้สำหรับเตรียมตัว และสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนะนำ : คุยอุ่นเครื่องเรื่องเทคโนโลยี ต้อนรับ ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ทาเลนต์ใหม่ข่าวเช้า beartai BRIEF


พบกับรายการข่าว beartai BRIEF ทันเทรนด์อนาคต กับข่าวสดยามเช้า
ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ 7 โมงเช้า ที่เพจ beartai BRIEF

ติดตาม beartai BRIEF ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/beartaiBRIEF
Twitter : https://twitter.com/beartaiBRIEF
Blockdit : https://www.blockdit.com/beartaibrief

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส