รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กมลา แฮร์ริส ได้แวะเยี่ยมเวียดนามอดีตศัตรูเก่า เพื่อสร้างแนวร่วมใหม่ในการต้านอิทธิพลจีนในภูมิภาคแบบโอเวอร์สุด ๆ เอาใจเวียดนามทุกเรื่องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริจาควัคซีน การเพิ่มขีดความสามารถด่านหน้าความมั่นคงทางทะเล ความร่วมมือด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

ก่อนหน้านี้ในยุคของประธานาธิบดีบารักโอบามา อเมริกาช่วยผลักดันเวียดนามเข้าร่วมเซ็นข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะไม่มีจีนเข้ามาเป็นสมาชิก และยังเป็นการชักจูงให้เวียดนามเข้ามาอยู่ในกลุ่มการค้าชั้นนำที่สหรัฐอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่ (ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ในปี 2017) ขณะนี้เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีข้อตกลงการค้ามากที่สุดนำหน้าประเทศหนึ่งในอาเซียน ดึงดูดแหล่งเงินทุนต่างประเทศเข้าประเทศมากกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว (ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกในรูปแบบใหม่)

แฮร์ริสเดินทางมาสู่ภูมิภาคในครั้งนี้เป็นที่โจษจันกันมาก เพราะแวะแค่ 2 ประเทศคือ สิงค์โปร์ และเวียดนาม ไม่มีไทยอยู่ด้วย ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา สะดวกต่อการเดินทางมีที่ตั้งตรงกลางพอดี การมองข้ามไทยครั้งนี้ส่อถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของอเมริกาในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์กับสองสมาชิกอาเซียนนี้อย่างแข็งขันที่มีทีท่าแข็งข้อกับจีน

ในช่วงสี่ห้าปี มักมีการเปรียบเทียบไทยกับเวียดนาม เน้นประเด็นความชัดเจนทัศนคติต่อจีน การค้าและความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล จีนกับเวียดนามยังเป็นคู่รักคู่กัดกันมานานเป็นพันปี 

จากมุมมองของกรุงวอชิงตันในขณะนี้ เวียดนามมีประโยชน์มากกว่าไทยทางด้านยุทธศาสตร์ สามารถเสริมสร้างให้เป็นแนวร่วมได้ในพื้นแผ่นดินใหญ่ของเอเชียอาคเนย์ โดยมีสิงค์โปร์เป็นประเทศคอยให้การสนับสนุนในเรื่องโลจิสติกส์และกำลังบำรุง

ไม่น่าแปลกใจ อเมริกาบริจาควัคซีนให้เวียดนามรวมกันทั้งหมดถึง 6 ล้านโดส ในหมู่สมาชิกอาเซียนด้วยกันนั้น เวียดนามมีการนำเข้าวัคซีนที่มีความหลากหลายที่สุดคือ มีทั้งของอเมริกา จีน อังกฤษ และรัสเซีย 

ต้องยอมรับว่าสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต โดยเฉพาะหลังการยึดอำนาจในปี 2014 ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือของ 2 พันธมิตรนี้ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีเพียงแค่การฝึกทหารประจำปีคอบบราโกลด์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 40 ปี เป็นเสาหลักแสดงถึงความยั่งยืนของมิตรภาพยาวนานถึง 203 ปี ความร่วมมือด้านอื่น ๆ เป็นไปตามปกติ ยกเว้นเรื่องการค้าที่มีแรงกดดันให้ไทยเปิดภาคธุรกิจภาคบริการและลดดุลการค้าที่ได้เปรียบมาตลอด

ในมุมของความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนาม ต้องถือว่ากำลังไปได้ดี มีการเพิ่มดีกรีความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทางด้านการค้าการลงทุน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานักลงทุนไทยเข้าไปในเวียดนามมาก เนื่องจากมีเสถียรภาพทางการเมืองและยังค่าแรงต่ำกว่าของไทย ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด นักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมาไทยอยู่ในระดับต้น ๆ  

รัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญของเวียดนาม ปีที่แล้วมีการยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) เป็นกรณีแรกของโลก 2 ประเทศนี้ยังมีการจัดร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีประจำปีมาแล้ว 3 ครั้ง 

เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป ทั้งสองฝ่ายคาดว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะสามารถพบกันแบบตัวต่อตัวที่กรุงฮานอยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้นโดยเฉพาะทางด้านความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขง

ในอนาคตสัมพันธ์ไทยกับเวียดนามจะมีมูลค่าเพิ่มทางด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะ 2 ประเทศมีความใกล้ชิดกับอเมริกาและจีน มีบทบาทและอิทธิพลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในเอเชียอาคเนย์ ตราบใดที่ 2 มหาอำนาจยังชิงดีชิงเด่นกันอยู่ ไทยกับเวียดนามก็ยังเป็นตัวแปรยุทธศาสตร์สำคัญต่อไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส