วันที่ 12 พฤศจิกายนนี้จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากนิวซีแลนด์ หลังจากที่ไทยได้สร้างชื่อเสียงในปี 2003 จากการเป็นเจ้าภาพครั้งที่แล้ว ทุกวันนี้คนในวงการเอเปคยังมีการพูดคุยถึงงานประชุมเอเปคครั้งนั้น

เนื่องจากการประชุมปีหน้าในไทย จะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเอเปคจะมีโอกาสพบปะกันแบบตัวต่อตัว หลังจากโควิด-19 ได้ทุเลาลง มีการฉีดวัคซีนเพียงพอ เป็นโอกาสดีที่ไทยจะแสดงวิสัยทัศน์ให้เขตการค้าต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกได้รับรู้ว่า ต่อไปนี้ไทยจะเดินไปทางไหนเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเสรี

ไทยเราจะ “พลิกโฉมใหม่” ได้หรือไม่หลังโควิด-19 เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญทุกคนในประเทศต้องช่วยกันตอบ ความสำเร็จของการเป็นประธานเอเปคส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าไทยจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง และยังประเด็นต่าง ๆ ไทยผลักดันที่ต้องได้รับยอมรับและมีฉันทามติ เพื่อสมาชิกเอเปคสมัครใจนำไปปฎิบัติได้ในที่สุด

หัวข้อหลักประชุมเอเปคของไทยคือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. มีประเด็น 3 ด้านที่ไทยต้องการผลักดันคือ 1) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อผลักดันการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติคือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค เพื่อบรรลุความมั่งคั่งในระยะยาว

และ 3) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อเร่งการฟื้นฟูและการเจริญเติบโตในภูมิภาคในยุคหลังโควิด-19

แหล่งข่าวบอกแบไต๋ว่า ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคือการจัดทำเอกสารของการประชุม Bangkok Goals on BCG (Bio-Circular-Green) Economy ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคต้องรับรองในพฤศจิกายนปีหน้า เพื่อย้ำเจตนารมณในการผลักดันการฟื้นฟูตัวจากโควิด-19 ที่ยั่งยืนสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของเอเปค และตอบโจทย์การบรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ฉะนั้นประเทศไทยรวมทั้งคนไทยต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้ดีรับงานใหญ่ครั้งนี้ ตั้งแต่นี้ไปถ้าสถานการณ์ในประเทศทั่ว ๆ ไปไม่อยู่ในสภาพที่มีเสถียรภาพ ยังมีการเดินขบวนประท้วง และความวุ่นวายทางการเมือง อาจจะส่งผลเสียต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ในการตัดสินใจในนาทีสุดท้ายที่จะมาหรือไม่มาประชุมในไทยก็ได้

ขณะนี้ประธานไทยมีความหวังอันยิ่งใหญ่ในปลายปีหน้า คือการต้อนรับผู้นำเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของโลกคือประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง รวมทั้งประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน ในเมืองหลวงของเรา

ต้องยอมรับว่าผู้นำหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชียตะวันออก ยังนึกถึงเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในปี 2009 จนต้องมีการอพยพผู้นำอาเซียนและต่างประเทศที่เข้ามาประชุมที่พัทยา สร้างความเสียหายอย่างมหันต์ให้กับประเทศ คงจำกันได้ว่าเจ้าภาพเอเปค 2022 ประเทศชิลีประกาศงดจัดงานเอเปคปี 2019 เนื่องจากมีการประท้วงการก่อจลาจลเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ก่อนมีการจัดประชุม

ในช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา มีข่าวลือออกมาสม่ำเสมอว่า ในต้นปีหน้าอาจจะมีการยุบสภา เพื่อเตรียมตัวการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อาจส่งผลกระทบต่อการเป็นประธานเอเปคไทยไม่มากก็น้อย

ในฐานะคนไทย หวังว่าการเป็นประธานเอเปคจะทำให้คนไทยตระหนักดีว่า ไทยเรามีศักยภาพมหาศาลที่จะกลับมาใหม่ให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส