จี๋ลี่ (Geely) ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติจีน เริ่มทดสอบยานยนต์เชื้อเพลิง อี-เมทานอล (e-Methanol) หรือพลังงานเมทานอลที่เกิดจากกระบวนการแยกโมเลกุลของน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริเวณท่าเรืออัลบอร์กของเดนมาร์ก

การทดสอบดังกล่าวประกอบด้วยรถยนต์ซีดาน 2 คัน และรถบรรทุกหนัก 1 คัน ซึ่งใช้เชื้อเพลิง อี-เมทานอล ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีเปลี่ยนระบบไฟฟ้าเป็นอย่างอื่น หรือพีทีเอ็กซ์ (PtX) ถือเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่ยั่งยืนและมีความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทรีน แบรมเซน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเดนมาร์ก ซึ่งเข้าร่วมการทดสอบ เรียกร้องการสนับสนุนเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยแบรมเซนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว “ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศเดียว แต่เกี่ยวข้องกับอนาคตของโลกทั้งใบ ฉันคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมีความร่วมมืออันแข็งแกร่ง และแบ่งปันความรู้ร่วมกันในสาขานี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพวกเรา แต่เกี่ยวกับลูกหลานของเรา”

ขณะเดียวกัน จี๋ลี่ระบุว่า เป้าหมายของความร่วมมือกับเดนมาร์กคือการส่งเสริมเชื้อเพลิง อี-เมทานอล และการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในยุโรป

ด้าน ลาสเซ ฟรีมันด์ เยนเซน ประธานท่าเรืออัลบอร์ก ให้สัมภาษณ์ว่าท่าเรือฯ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 2,000 ล้านโครนเดนมาร์ก (ราว 9,900 ล้านบาท) ในด้านการคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ค่ายรถยนต์จีนเริ่มทดสอบยานยนต์ ‘อี-เมทานอล’ ในเดนมาร์ก
รถบรรทุกหนัก รุ่นเอ็ม 100 ซึ่งใช้เชื้อเพลิงอี-เมทานอลคันแรกของโลก ทดสอบวิ่งในท่าเรืออัลบอร์กทางตะวันตกเฉียงเหนือของเดนมาร์ก

ปัจจุบัน เดนมาร์กเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ ทว่าความท้าทายของพลังงานประเภทดังกล่าวคือการต้องพึ่งพาสภาพอากาศ เป็นเหตุให้เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลเดนมาร์กประกาศข้อตกลงเกี่ยวกับการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีพีทีเอ็กซ์ ซึ่งครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐบาล มูลค่า 1,250 ล้านโครนเดนมาร์ก (ราว 6,200 ล้านบาท) รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการผลิต จัดเก็บ และขนส่งเชื้อเพลิงเมทานอล

โดยปัจจัยสำคัญที่เดนมาร์กต้องการส่งเสริมเชื้อเพลิงเมทานอลคือเชื้อเพลิงชนิดนี้มอบแนวทางสำหรับการกักเก็บพลังงานหมุนเวียนส่วนเกิน และสร้างเสถียรภาพแก่โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

ขณะเดียวกัน เมอส์ก (Maersk) ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งทางเรือของเดนมาร์ก ได้บุกเบิกการใช้เชื้อเพลิงเมทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการขนส่งเชิงพาณิชย์แล้ว

ที่มา : ซินหัว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส