สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู) ได้อนุมัติกฎหมายสำคัญ ซึ่งจะทำให้อียูสามารถยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปี 2035

แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติจาก 27 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประเทศสมาชิกในอียู ซึ่งส่งผลให้นโยบายการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับกลุ่มยานยนต์มีผลบังคับใช้ในทันที แต่ก่อนหน้านี้มันถูกคัดค้านโดยนายโวลเกอร์ วิสซิง (Volker Wissing) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเยอรมนี ที่เรียกร้องให้มีการยกเว้นกฎหมายนี้กับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ (e-fuels)

โดย e-fuels คือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่อ้างว่ามีความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำงานโดยการจับคาร์บอนจากอากาศมาผลิตพลังงานร่วมกับไฮโดรเจนที่ได้จากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน เช่น ลม แสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้คำมั่นว่าในอนาคตจะมีการกำหนดแนวปฏิบัติทางกฎหมายสำหรับการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-fuels

การอนุมัติกฎหมายที่สำคัญในครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่เยอรมนีที่ไม่เห็นด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของโปแลนด์ลงมติไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่ตัวแทนจากโรมาเนีย อิตาลี และบัลแกเรียงดออกเสียง โดยกลุ่มประเทศที่คัดค้านนั้นให้ความเห็นว่ากฎหมายนี้จะทำให้ต้นทุนรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อิตาลีได้ผลักดันให้มีการยกเว้นสำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

ไม่เพียงแค่รัฐบาลเท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน เพราะว่าผู้ผลิตรถยนต์หรูของเยอรมันอย่างปอร์เช่ (Porsche) และเฟอร์รารี (Ferrari) ของอิตาลีออกมาบอกว่า แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้นหนักเกินไปสำหรับรถยนต์ของพวกเขา ในขณะที่โฟล์คสวาเกน (Volkswagen), เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และฟอร์ด (Ford) กำลังวางเดิมพันครั้งใหญ่ในการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการของตลาด

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในความพยายามของอียูที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจากข้อมูลพบว่า การคมนาคมขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยมลพิษในอียูประมาณ 25% จากจำนวนทั้งหมด

ที่มา : Deutsche Welle

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส