วันที่ 3 ตุลาคม 2565 beartai BRIEF จัดเวทีทอล์กสุดพิเศษ​ beartai BRIEF ON STAGE เพื่อร่วมหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ประเดิมหัวข้อแรก “มหากาพย์พลังงานแพง : ปัญหาที่แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้ ?” ร่วมถกปัญหาและหาทางออกเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาราคาพลังงานร่วมกับนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้แก่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน, ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และคุณภาณุรัช ดำรงไทย ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพ ดำเนินรายการโดย หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

สำหรับปัญหาพลังงานแพงนั้น เริ่มตั้งแต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าบางส่วนยังคงใช้น้ำมันในการผลิต เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นลูกโซ่ จนผู้คนเริ่มมองหาพลังงานทางเลือกที่สะอาด และราคาถูก ทั้งนี้ ถ้าต้องการจะทราบถึงที่มาของวิกฤติพลังงานแพง ก็จำเป็นจำเป็นจะต้องรู้ที่มาที่ไปของโครงสร้างราคาพลังงาน สถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน และสถานการณ์พลังงานของไทย เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหานี้

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD มีมุมมองว่า ปัญหาราคาพลังงานไม่ใช่แค่ในไทย แต่เกิดวิกฤติไปทั่วโลก เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันนั้น ต้องไปดูในโครงสร้างของราคา โดยส่วนมากจะประกอบด้วยราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งขึ้นตรงกับราคาน้ำมันดิบ ราคาแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การจัดเก็บภาษีและค่าอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมมาที่ทำให้ราคานั้นต่างกัน ทั้งนี้ ไทยเราแม้จะขุดเจาะเองได้ แต่ก็ขุดไม่ได้มากเท่าความต้องการใช้ ทำให้ต้องนำเข้า และจำหน่ายโดยอิงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD

ด้าน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การขาดแคลนพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน โดยความขาดแคลนมีหลายปัจจัยเช่นกัน ทั้งที่มาของพลังงานที่หายากขึ้น หรือทรัพยากรเริ่มจะหมดไป และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้มีการปล่อยทรัพยากรส่งออกมาน้อย หนึ่งในนั้นคือสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบยังต้องอาศัยการนำเข้า 85-90% เพราะการผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงเป็นไปไม่ได้ที่ราคาน้ำมันในประเทศจะไม่ยึดโยงกับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยไทยอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ ทั้งนี้ ในประเทศที่ราคาน้ำมันถูกเกิดจากการที่ใช้เงินงบประมาณของรัฐ เข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่เก็บภาษีน้ำมันแพง ทำให้ราคานั้นค่อนข้างสูงเช่นกัน ดังนั้น นอกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว นโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศก็ส่งผลต่อราคาเช่นกัน

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

คุณภาณุรัช ดำรงไทย ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพ ระบุว่า ในช่วงโควิด-19 ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกลดลง ภาคเอกชนที่เตรียมการขุดเจาะเพื่อค้นหาพลังงาน แต่ไม่ได้ดำเนินการจริง เมื่อความต้องการกลับมาแล้วกลายเป็นว่ากำลังการผลิตและบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้กำลังการผลิตพลังงานหายไป จนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น มองกลับมาที่ไทยเรา ปริมาณการกักเก็บน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับที่ต่ำหากเทียบหลายประเทศในระดับโลก สวนทางกับปริมาณความต้องการใช้งานทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาพลังงานจึงสูงขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ หากจะแก้ไข ไทยต้องมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อใช้งาน

โดยพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะสามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต่างจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จำกัดในช่วงเวลากลางวัน หรือ เฉลี่ย 4.5 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ ไทยมีหลายจุดที่มีอุณหภูมิเหมาะสมที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ แต่ต้องรอให้ต้นทุนด้านเทคโนโลยีปรับตัวลดลง เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย และคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกของไทย น่าจะเหมาะสมในการเริ่มต้น 

ภาณุรัช ดำรงไทย ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพ

อย่างไรก็ตาม แขกรับเชิญทั้ง 3 ท่านมีความคิดเห็นที่คล้ายกันในหลายประเด็น ได้แก่ การที่ไทยเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทาน (Concession System) ในการขุดเจาะน้ำมันเป็นระบบสัญญาแบบปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) ซึ่งไทยเราเพิ่งจะเริ่มต้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถระบุได้ว่าแบบไหนไทยจะได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน แต่ชื่อการเรียกระบบนั้นไม่สำคัญ​ แต่ต้องดูในรายละเอียดภายในว่าคุ้มค่าหรือไม่ 

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อถกเถียงว่าระบบใดมีประโยชน์มากกว่ากัน ทำให้ไทยเราเสียโอกาสในการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ ล่าสุด ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้ไม่ถึง 5 ปี ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าจะระบบใด ก็ไม่ได้ส่งผลต่อราคาพลังงาน เพราะท้ายที่สุดก็ต้องจำหน่ายภายใต้กติกาที่กำหนดอยู่ดี

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ได้ถูกออกแบบให้ในช่วงที่ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มลดลงจะเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อใช้ในอุดหนุนราคาในช่วงที่ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับตัวสูงขึ้น ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้เงินกองทุนฯ ในการพยุงราคามาอย่างยาวนานเกินไปจนเงินหมด และต้องทำการกู้เงินเพิ่มเรื่อย ๆ ล่าสุด กองทุนฯ ติดลบมากกว่า 122,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้จะมีหนี้มหาศาล แต่การจะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ นั้น ไม่ถือเป็นทางออกที่ดี เพราะที่ผ่านมาหากดูโครงสร้างราคาของน้ำมันดีเซล B7 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 พบว่า หากไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนก็จะทำให้ราคาพุ่งสูงถึงลิตรละ 45.33 บาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงควรถูกบริหารจัดการใหม่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม คือ ใช้เงินที่จัดเก็บมาได้อุดหนุนพลังงานให้ตรงประเภท และให้หยุดแทรกแซงราคาพลังงานเพื่อไม่ให้เสียกลไกของตลาด หากกองทุนฯ ขาดเสถียรภาพ รัฐบาลควรจะต้องปล่อยให้ราคาปรับตัวขึ้น

ด้วยโครงสร้างราคาที่ซับซ้อน ประกอบกับภาวะสงคราม สถานการณ์ การเมืองระหว่างประเทศ ความผันผวนของค่าเงิน ไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ยากขึ้น ทำให้ราคาพลังงานแบบดั้งเดิมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในระดับสูง และจะไม่ปรับตัวลดลงจนเหมือนยุคก่อนโควิด-19 อีกแล้ว จึงถึงเวลาที่ไทยควรจะเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ ภาพที่เห็นชัดที่สุดคือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV 100% แม้สถานการณ์ในระดับโลก โดยเฉพาะสงคราม ทำให้อุปทานส่วนประกอบในการผลิตหายากขึ้น ถือเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่าน แต่ผู้ผลิตก็พยายามที่จะผลิตรถ EV ออกมาจำหน่ายให้เพียงพอ นอกจากนี้ ในยุคต่อไป ประชาชนอาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Prosumer (ลูกค้าร่วมผลิตเอง) ในการผลิตไฟฟ้าใช้งานเองจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดโซลาร์เซลล์ในที่อยู่อาศัย และตามอาคารต่าง ๆ ให้มากขึ้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส