ปัญหามลพิษเป็นเรื่องที่คิดยังไงก็คิดไม่ตกว่าจะจบลงเช่นไร มีสถิติระบุว่า ในปี 2022 เขตดินแดงมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานกว่า 250 วันต่อปี รวมถึง PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 4,486 คนต่อปี (สถิติจาก Dustboy ในปี 2022) หลายภาคส่วนต่างรวมพลังกันแก้ปัญหา

หนึ่งในแรงผลักดันใหญ่นี้คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รวมพลังเครือข่ายในจังหวัดลำปางและสิงห์บุรี นำร่องการวิจัยแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างเร่งด่วน

การแก้ปัญหาของเครือข่ายเป็นการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. มาใช้ในการแก้วิกฤตทางอากาศ ที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหานี้และยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ โดยใช้พื้นที่นำร่องในจังหวัดลำปางและสิงห์บุรี เนื่องจากพบว่าทั้งสองจังหวัดมักเกิดไฟไหม้ป่าบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

หนึ่งในผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและสามารถแก้ปัญหาได้จริง อย่าง Low-cost sensor (DUSTBOY) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถแสดงผลค่าฝุ่นละอองแบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและแก้ปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งผลของการติดตามค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ทำให้พื้นที่จุดความร้อนใน 2 จังหวัดลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยใพื้นที่เกิดไฟไหม้ในจังหวัดลำปางลดลงกว่า 88% และการลอบเผาตอซังข้าวและเศษวัสดุเกษตรในจังหวัดสิงห์บุรีลดลงกว่า 29%

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการลดการเผาพื้นที่ป่า เช่น แพลตฟอร์มการสร้างรายได้ป้อนกลับให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าผ่านกลไกตอบแทนคุณนิเวศ รวมถึงการขยายผลงานวิจัยการบริหารจัดการป่าชุมชน เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรประณีตเพื่อสร้างรายได้และลดผลกระทบในพื้นที่ป่า

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.

ไปจนถึงการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากวัสดุทางการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเผา เช่น แพลตฟอร์มที่ให้เกษตรลงทะเบียนจัดการชีวมวล เครื่องจักรขนาดเล็กที่ช่วยตัดสางใบอ้อยเพื่อลดการเผา การแปรรูปเศษชีวมวลเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และระบบโลจิสติกส์เพื่อจัดการการซื้อขายเศษวัสดุเกษตร

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม

หลังจากนำร่องในพื้นที่ 2 จังหวัดแล้ว จะมีการขยายผลในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทางสกสว. ได้เสนอแผนการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีงบประมาณ 2567 ต่อไป

ปิดท้ายด้วยการนำเสนอ 4 มาตรการ ที่จะสามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืนภายใน 15 ปี โดยแบ่งเป็น มาตรการแรกคือเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยเริ่มจากการป้องกันฝุ่นด้วยตัวเอง มาตรการที่สองคือการสร้างเมืองแห่งรถยนต์ไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนไปใช้หรือสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถ EV มากขึ้น

มาตรการที่สามอุตสาหกรรมสะอาดขึ้น ซึ่งมีตัวเลขระบุว่าค่าฝุ่นกว่า 25% ในกทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้า หากสามารถลดการปล่อยของเสียตรงนี้ได้จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้มากทีเดียว และมาตรการที่สี่ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นคนส่งสัญญาณไปยังผู้ผลิตถึงต้นตอของปัญหาเรื่องฝุ่นและสิ่งแวดล้อมต่อไป

แบไต๋พูดเสมอว่า ททท. ทำทันที เริ่มได้ที่ตัวเราครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส