หลังจากทิ้งร้างการเดินทางไปยังอวกาศด้วยยานสัญชาติประเทศตนเกือบ 10 ปี (หลังจากยุคกระสวยอวกาศจบลง อเมริกาก็ไม่มียานอวกาศที่บรรทุกคนได้ของตัวเอง จึงต้องไปใช้บริการของรัสเซียอยู่หลายปี) ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ  (International Space Station; ISS) ด้วยจรวดสัญชาติอเมริกาอีกครั้ง ตามแผนในโครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชน  (Commercial Crew Program) ของนาซา นักบินอวกาศ โรเบิร์ต เบนเคน (Robert Behnken) และดักลาส เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley) จะเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) ของ Elon Musk เวลา 16.33 น. ตามเวลาท้องถิ่น (EDT) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จากฐานปล่อยจรวด 39A (Launch Complex 39A) รัฐฟลอริดา หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่นั่งยานอวกาศจากภาคเอกชนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก

จรวดฟอนคอน 9 (Falcon 9) ที่ใส่โลโก้นาซาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภารกิจพานักบินอวกาศอเมริกาไปสถานีอวกาศนานาชาติครั้งนี้ มีนามว่า “Crew Dragon Demo-2” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Demo-2” มีจุดมุ่งหมายของภารกิจคือการทดสอบเที่ยวบิน นักบินอวกาศจะต้องตรวจสอบระบบการขนส่งลูกเรือของบริษัท SpaceX ซึ่งรวมไปถึงการยิงจรวด เครื่องยนต์จรวด ยานอวกาศ และสมรรถนะและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภารกิจดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศนาซ่าจะทดสอบระบบยานอวกาศในวงโคจร

สำหรับนักบินอวกาศ เบนเคนและเฮอร์ลีย์ ทั้งคู่ถือเป็นนักบินอวกาศชุดแรกที่เริ่มทำงานและฝึกการใช้ยานอวกาศรุ่นถัดไปของ SpaceX โดยได้รับการคัดเลือก เนื่องจากผ่านบททดสอบด้านการบินที่เข้มข้น รวมทั้งยังมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระสวยอวกาศในหลายภารกิจด้วย

เบนเคนจะรับหน้าที่หลักเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการร่วม รับผิดชอบการเชื่อมต่อและถอดถอนยานเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ณ จุดนัดพบ หลังจากได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศของนาซาเมื่อปี ค.ศ. 2000 และผ่านภารกิจการบินด้วยกระสวยอวกาศสองเที่ยว เขาเข้าร่วมในภารกิจส่งกระสวยอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ STS-123 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 และภารกิจ STS-130 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ทั้งยังเดินในอวกาศ (Spacewalks) ถึงสามครั้งระหว่างปฏิบัติภารกิจด้วย

นักบินอวกาศ โรเบิร์ต เบนเคน (Robert Behnken)

ส่วนเฮอร์ลีย์ได้รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการยานอวกาศ รับผิดชอบการปล่อยตัวออกจากฐาน การลงจอด และการกู้คืน เขาได้รับเลือกเป็นนักบินอวกาศในปี ค.ศ. 2000 และผ่านภารกิจการบินด้วยกระสวยอวกาศสองเที่ยวเช่นกัน เฮอร์ลีย์เป็นนักบินและเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์หลักทั้งในภารกิจ STS‐127 เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 และภารกิจ STS‐135 ซึ่งเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในโครงการกระสวยอวกาศอเมริกัน เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011

นักบินอวกาศ ดักลาส เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley)

เมื่อจรวดฟอลคอน 9 ถูกปล่อยจากฐาน มันจะนำพายานดรากอน 2 (Dragon 2) ในส่วนที่เรียกว่า ‘Crew Dragon’ พร้อมลูกเรืออีกสองคน ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยความเร็วประมาณ 17,000 ไมล์ต่อชั่วโมง และเมื่อเข้าสู่วงโคจรแล้ว ลูกเรือและผู้ควบคุมภารกิจของ SpaceX จะตรวจสอบการทำงานของยานอวกาศว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ด้วยการทดสอบระบบควบคุมสภาพแวดล้อม การแสดงผลระบบควบคุม ระบบขับเคลื่อน และสิ่งต่าง ๆ ได้

ยาน Crew Dragon ที่ทำหน้าที่บรรทุกลูกเรือทั้งสองไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

จากนั้นภายในเวลา 24 ชั่วโมง ยาน Crew Dragon จะเข้าเทียบท่า ณ จุดนัดพบ และเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ยานดังกล่าวได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศแบบอัติโนมัติ อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศทั้งจากยาน Crew Dragon และสถานีอวกาศจะจับตา คอยสังเกตการณ์การเชื่อมต่อนี้อย่างใกล้ชิด และจะเข้าควบคุมยานทันทีหากเกิดเหตุจำเป็น

ระบบควบคุมภายในยาน Crew Dragon

หลังการเทียบท่า เบนเคน และเฮอร์ลีย์ จะกลายเป็นหนึ่งในนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติและสมาชิกของภารกิจการเดินทางระยะยาว 63 (Expedition 63) พวกเขาจะทำการทดสอบต่าง ๆ บนยาน Crew Dragon เพื่อการทำงานวิจัยและงานอื่น ๆ ร่วมกับลูกเรือของสถานีอวกาศคนอื่น

แม้ว่ายาน Crew Dragon จะถูกใช้สำหรับทดสอบการเดินทางในครั้งนี้ และตามแผนจะอยู่ในวงโคจรเพียง 110 วัน แต่จะมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนบนสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง และขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชนในครั้งถัดไป ยานอวกาศจึงอาจจะอยู่ในวงโคจรได้ถึง 210 วัน หากมีการร้องขอจากนาซา

จากนั้น ยาน Crew Dragon พร้อมนักบินอวกาศทั้งสองจะออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยมีจุดลงจอดที่นอกชายฝั่งแอตแลนติกของฟลอริดา และเรือกู้คืน Go Navigator ของ SpaceX จะไปรับลูกเรือทั้งสองพากลับเข้าสู่แหลมคานาวารัลต่อไป

ภาพตัวอย่างแสดงการกลับคืนสู่โลกของยานอวกาศ

ภารกิจ Demo-2 จะเป็นก้าวครั้งสำคัญสุดท้ายก่อนที่โครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชนของนาซาจะรับรองยาน Crew Dragon สำหรับทำภารกิจรับ-ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในอนาคต การรับรองนี้รวมทั้งการใช้ยาน Crew Dragon ในอนาคตจะทำให้นาซาสามารถดำเนินงานวิจัยและค้นคว้าเทคโนโลยีที่สำคัญบนสถานีอวกาศนานาชาติต่อไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นประโยชน์ ทั้งแก่คนบนโลก และการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารในโครงการอาร์ทีมิส (Artemis program) ซึ่งเป็นโครงการของนาซา มีเป้าหมายพานักบินอวกาศหญิงคนแรกและนักบินอวกาศชายไปเหยียบดวงจันทร์ ในปี ค.ศ. 2024 ต่อไปด้วย

ใกล้เวลาส่งยานขึ้นไปทุกทีแล้ว ใครสนใจอยากตามลุ้นและเอาใจช่วยให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จและผ่านพ้นไปด้วยดี กดเข้าไปได้ที่ ลิงก์นี้ กันได้เลยครับ โดยภารกิจนี้จะยิงในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 พฤษภาคม 63 เวลา 03:33 น. ตามเวลาประเทศไทย

คลิปที่เกี่ยวข้อง
โครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชน  (Commercial Crew Program)
Crew Dragon
Crew Dragon | Interior

อ้างอิง
NASA
SpaceX
Wikipedia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส