กรกฎาคม 2020 ถือเป็นเดือนแห่งดาราศาสตร์ เพราะอัดแน่นจัดเต็มจริง ๆ ทั้งการส่งยานจากหลากหลายชาติไปดาวอังคาร/ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี/ การมาเยือนของดาวหาง NEOWISE และล่าสุดยังมี ปรากฏการณ์ ‘ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี’ มาให้ยลกันอีก ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ด้วย

และเพราะเหตุนี้ NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลยจัดกิจกรรมชวนชมดาวเสาร์กันให้ถึงใจ โดยเตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้ประชาชนส่องดู ‘วงแหวนดาวเสาร์’ ถึง 4 จุดสังเกตการณ์ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น.

ในวันนั้น ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ โลก ดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (Saturn Opposition) ห่างประมาณ 1,346 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และจะสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจนโดยมีช่องแบ่งแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง นอกจากนี้ คืนนั้นยังเป็นคืนเดือนมืด มีดาวพฤหัสบดีสว่างปรากฏใกล้กับดาวเสาร์ และช่วงหัวค่ำยังมีโอกาสได้เห็นดาวหางนีโอไวส์อีกด้วย

สำหรับ 4 จุดสังเกตการณ์ที่ว่า ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตต์สิรินธร จ.เชียงใหม่ (084-0882261)
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา (086-4291489)
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา (084-0882264 / 038-589395)
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา (074-300868 / 095-1450411)

โดยงานจะจัดขึ้นในรูปแบบ New Normal ผู้สนใจเข้าร่วมได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถไปลงทะเบียนออนไลน์ลุ้นรับ หนังสือคู่มือปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ กันได้ที่ https://bit.ly/NARITSaturn2020 นอกจากนี้ยังเปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษในยามค่ำคืนด้วย (รอบ 18:00 – 19:00 น./ 19:30 – 20:30 น./ 21:00 – 22:00 น.)
**สำรองที่นั่งท้องฟ้าจำลองล่วงหน้าได้ตามหมายเลขโทรศัพท์ด้านบน มีค่าเข้าชม : เด็ก นักเรียน นักศึกษา 30 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท**

แนะนำว่าใครอยากเข้าร่วม ให้ไปเตรียมตัวกันก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเลยจะดีกว่า จะได้ชมทั้งดาวหางนีโอไวส์ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสเคียงดาวเสาร์ด้วย เอาให้ครบเครื่องจุใจกันไปเลยยยย

อ้างอิง

NARIT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส