กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังจัดสรรงบประมาณ (เอกสารหน้า 301 – 305) ให้กับกองทัพสำหรับปี 2022 ซึ่งมีหนึ่งในโครงการความก้าวหน้าของกองทัพอากาศที่น่าสนใจนั่นก็คือ Rocket Cargo ในการใช้จรวดขนาดใหญ่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับบรรทุกสัมภาระและยุทโธปกรณ์ขนาด 100 ตันโดยบินขึ้นไปตามแนววงโคจรของโลกแล้วกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมาลงจอดในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกได้ในเวลา 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้กองทัพอากาศได้ของบในปีหน้า 47.9 ล้านเหรียญ (1,490 ล้านบาท) มากกว่าปีนี้ที่ 38.169 ล้านเหรียญ (1,187 ล้านบาท) สำหรับลงทุนเชิงพาณิชย์หรือร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการพัฒนาต้นแบบจรวดสำหรับทดลองภาคสนามหรือทดสอบในสภาพแวดล้อมจำลอง ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งในภารกิจของกองทัพให้มีความรวดเร็วและราคาถูก สรุปง่าย ๆ ว่าจะทุ่มงบให้เอกชนมาร่วมพัฒนานั่นเอง

ตุลาคมที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และเอ็กซ์อาร์ก (XArc) ในการสร้างระบบขนส่งสัมภาระทางอวกาศแบบจุดต่อจุดไปยังพื้นที่ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ปลายเดือนพฤษภาคมสเปซเอ็กซ์เผยว่ากำลังเตรียมพร้อมที่จะบินทดสอบยานสตาร์ชิป (Starship) SN16 ไปตามแนววงโคจรสู่อวกาศในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยคาดว่าจะใช้จรวดซูเปอร์เฮฟวี่เป็นส่วนบูสเตอร์บินจากเท็กซัสไปยังเกาะคาไว และล่าสุดเผยว่ากำลังก่อสร้างดีมอสท่าอวกาศที่ลอยอยู่ในทะเลเพื่อเปิดตัวในปีหน้า

การจัดสรรงบประมาณในปี 2022 เป็นการขยายงานเดิมที่กำลังทำอยู่ในปีนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกองทัพฯ เผยว่ายินดีเปิดรับบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมโครงการนี้ แต่คุณสมบัติที่เข้าตามากที่สุดในตอนนี้ก็คงจะเป็นโครงการสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์

ที่มา : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส