หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ได้รายงานว่า ไททัน (Titan) เรือดำน้ำขนาดเล็กของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ (OceanGate Expeditions) ผู้ให้บริการเรือดำน้ำเชิงพาณิชย์ สำหรับนำเที่ยวชมซากเรือไททานิค (Titanic) ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลมหาสมุทรแอตแลนติก ความลึกมากกว่า 12,500 ฟุต หรือ 3,810 เมตร ก่อนที่ในวันต่อมา การสื่อสารระหว่างเรือดำน้ำ และ เรือแม่ โพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ได้ขาดการติดต่อไปอย่างไร้ร่องรอย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน หลังจากปฏิบัติการการให้ความช่วยเหลือจากทั้งของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และจากการช่วยเหลือของนานาชาติ ที่มีการส่งเรือ เรือดำน้ำไร้คนขับ ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกลแบบ ROV รวมทั้งการค้นหาทางอากาศด้วยเครื่องบิน ได้มาถึงกำหนดเส้นตาย 70 ชั่วโมง ตามคาดการณ์ประมาณอากาศสำรองที่อยู่ภายในเรือดำน้ำที่มีการประเมินไว้แต่แรก

No survivors after Titanic sub wreckage found on ocean floor

แต่สุดท้ายก็ไร้ปาฏิหาริย์ เมื่อหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงการณ์ลูกเรือ 5 คนที่ประกอบไปด้วยลูกทัวร์ 3 คน ผู้เชี่ยวชาญ และ สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ผู้ก่อตั้งและประธานบริการบริษัท OceanGate Expeditions ผู้ทำหน้าที่กัปตันควบคุมเรือดำน้ำได้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด

ล่าสุด เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่นำความหลงใหลในโลกใต้ทะเลมาเป็นแรงผลักดันให้เริ่มต้นสร้างหนังโรแมนติกสุดยิ่งใหญ่อย่าง ‘Titanic’ (1997) ที่ในอีกด้านหนึ่ง เขาคือหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ในการดำน้ำเพื่อเยี่ยมชมซากเรือไททานิคมากถึง 33 ครั้ง และดำน้ำสำรวจใต้ทะเลลึกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งรวมทั้งการดำน้ำแบบลุยเดี่ยวเพื่อสำรวจร่องลึกก้นมหาสมุทรในจุดที่ลึกที่สุดในโลกมาแล้ว ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC เกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว

“ผมเคยลงไปที่นั่นหลายครั้งแล้วล่ะ เลยรู้จักที่นั่นเป็นอย่างดี เหมือนกับเพื่อนผม บ็อบ แบลเลิร์ด (Robert Ballard – อดีตนายทหารเรือและศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์ ผู้ค้นพบซากเรือ RMS Titanic ในปี 1985) ตัวผมเองเคยดำลงไปแล้ว 33 ครั้ง ผมเคยคำนวณเล่น ๆ ว่า ผมใช้เวลาไปกลับมากกว่ากัปตัน (เรือดำน้ำไททัน) คนนั้นอีก ในฐานะที่ผมเป็นนักออกแบบยานสำหรับดำน้ำ ที่เคยออกแบบยานสำหรับดำน้ำที่ลึกกว่าซากไททานิค 3 เท่า ผมจึงเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางวิศวกรรมของยานประเภทนี้ รวมทั้งวิธีปฏิบัติด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่ควรทำ”

James Cameron James Cameron titanic

นอกจากนี้ คาเมรอนยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ที่เขาเองเผยว่ารู้สึกแปลกใจที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ ทั้งที่ในขณะที่ในอดีตนั้นแทบไม่เคยเกิดโศกนาฏกรรม เนื่องจากมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยของเรือดำน้ำที่ดีเยี่ยม ยกตัวอย่างเช่นเรือดำน้ำจากรัสเซีย ที่คาเมรอนใช้ในการเดินทางไปยังซากเรือไททานิคนั้นได้รับการออกแบบมาอย่างดี และดำเนินการด้วยกัปตันที่มีประวัติการทำงานดีเยี่ยม ทำให้เขารู้สึกมั่นใจในการเดินทางดำลงสู่มหาสมุทรในทุกครั้ง แม้สภาพแวดล้อมในมหาสมุทรบริเวณซากเรือจะไม่เป็นใจก็ตาม

“ยานดำน้ำเป็นศิลป์ที่เก่าแก่มานานมากแล้วนะครับ ถ้านับตั้งแต่ยุค 60s ที่เคยมีอุบัติเหตุบ้างบางครั้ง แต่ก็ไม่มีใครเคยตายในยานดำน้ำลึก จนถึงตอนนี้มันกินเวลานานกว่าตั้งแต่เรือคิตตีฮอว์ก (เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Kitty Hawk) จนถึงเที่ยวแรกของเครื่องบินรุ่น 747 ซะอีก ช่วงระยะเวลาระหว่างนั้นเรามีการพัฒนาขึ้นเยอะมาก รวมทั้งการรับรองความปลอดภัยของยานดำน้ำก็ดีขึ้นทุกลำ ยกเว้นลำนี้นี่แหละ! ปกติยานดำน้ำทั่วโลกที่มีผู้โดยสาร ทั้งดำน้ำในเขตร้อน แนวปะการังน้ำลึก ซากเรือ ล้วนแต่มีประวัติความปลอดภัยเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ไม่เคยมีคนตายนะ แต่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ๆ เลยด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้ คาเมรอนยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเรือดำน้ำ ที่ต้องคำนึงถึงการรองรับแรงดันน้ำระดับมหาศาลใต้มหาสมุทร ซึ่งวัสดุที่ประกอบขึ้นเป็นเรือดำน้ำไททันนั้นผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ที่คาเมรอนได้ยินจากคนในวงการแล้วก็รู้สึกไม่เชื่อมั่นถึงความปลอดดภัย ในขณะที่เขาได้ชี้แนะว่า ปกติแล้วตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของยานที่ใช้ดำน้ำ มักจะผลิตจากวัสดุที่สามารถเชื่อมติดกันได้ เพื่อให้สามารถต้านแรงดันได้อย่างแข็งแรง เช่น เหล็กกล้า ไทเทเนียม เซรามิก อะคริลิก ที่ให้ผลการทดสอบดีกว่า

ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนที่เขาออกแบบยานดำน้ำ ที่เขาใช้ในการสำรวจร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) ในภารกิจ ‘Deepsea Challenge’ นั้น เขาและทีมงานให้ความสำคัญในการออกแบบเป็นอย่างมาก แค่เฉพาะการออกแบบบนคอมพิวเตอร์ ก็ต้องใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการทดสอบกับแรงดันในหลาย ๆ ระดับเพื่อให้มั่นใจมากที่สุดว่าจะปลอดภัย

ในขณะที่คาเมรอนเองก็ได้เผยกับทาง BBC ว่า ในบรรดาคนในชุมชนนักดำน้ำลึก ได้มีการพูดคุยและส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันมาสักระยะแล้ว ซึ่งเมื่อเขาได้ทราบข่าวว่าเรือดำน้ำลำดังกล่าวขาดการสื่อสาร ทำให้เขาเองรู้สึกสังหรณ์ใจว่านี่อาจเป็นโศกนาฏกรรมตามที่มีการสันนิษฐานในเบื้องต้นว่ามีแรงดันน้ำมหาศาลที่บีบอัดจนทำให้เรือดำน้ำเกิดระเบิดจากภายนอกเข้าสู่ภายใน (Implosion)

James Cameron Titanic Deep Sea Challenge

“ผมรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าจะมีเรื่องเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะการที่ระบบไฟฟ้าของเรือดำน้ำเริ่มล้มเหลว และขาดการติดต่อ รวมทั้งระบบติดตามการเดินทางยังเสียหายอีก ผมคิดว่าเรือดำน้ำคงไม่รอดแล้วล่ะ ผมเลยโทรไปหาคนในสมาคมเรือดำน้ำลึก ผมจึงได้รู้ว่า พวกเขาลงไปใต้ทะเลความลึก 3,500 เมตร ตรงไปที่ความลึก 3,800 เมตร ผมพูดขึ้นเลยว่า ถ้าไม่เกิดเรื่องหายนะ หรือปัญหาระบบไฟฟ้าขั้นวิกฤติเกิดขึ้น ไม่มีทางที่จะขาดการติดต่อกับยานแม่ หรือการนำทางผิดพลาดในเวลาเดียวกันได้ สิ่งที่ผมนึกได้อย่างแรกก็คือ มันอาจจะเกิดระเบิดขึ้น”

“หลายคนในวงการนี้ต่างกังวลมาก ๆ เกี่ยวกับยานดำน้ำลำนี้ มีรายใหญ่บางคนในวงการวิศวกรรมยานดำน้ำลึก เคยพยายามเขียนจดหมายถึงบริษัทนี้ด้วย เพื่อเตือนว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นยังอยู่ในขั้นทดลองเกินกว่าที่จะพาคนโดยสารลงไป หากไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเสียก่อน”

ในฐานะนักสำรวจซากเรือไททานิคมาแล้วหลายสิบครั้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำลึก คาเมรอนยังได้ชี้จุดให้เห็นว่า โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันที่เกิดขึ้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์เรือไททานิคล่มในปี 1912 ที่เกิดจากความตัดสินใจผิดพลาดของกัปตันผู้ควบคุมเรือที่ละเลยด้านความปลอดภัยจนเกิดเหตุขึ้น แถมทั้งสองเหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกันอีก

Mariana Trench) ในภารกิจ 'Deepsea Challenge

“ผมรู้สึกตกใจที่เหตุเรือดำน้ำไททัน พบกับหายนะแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเรือไททานิค ตรงที่กัปตันได้รับคำเตือนซ้ำ ๆ เกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ตรงหน้าแล้วแท้ ๆ แต่เขาก็ยังตัดสินใจแล่นเรือด้วยความเร็วเต็มพิกัด ก่อนจะพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งในคืนเดือนมืด ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตลง ซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็ไม่มีใครรับฟังคำเตือนเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ทั้งที่ปกติทั่วโลกก็มีการดำน้ำลึกอยู่แล้ว และไม่เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเลย ผมจึงรู้สึกว่ามันแปลกมาก ๆ “

นอกจากนี้ คาเมรอนยังได้เปิดเผยในการสัมภาษณ์ว่า ปอล-อองรี นาร์จีโอเลต์ (Paul-Henri Nargeolet) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี ผู้เคยดำน้ำสำรวจซากเรือไททานิคมาแล้วกว่า 35 ครั้ง และรู้จักกับคาเมรอนในฐานะเพื่อนร่วมชุมชนนักดำน้ำลึก คือหนึ่งใน 5 ผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนี้

“พีเอช (ปอล-อองรี) นักดำน้ำลึกระดับตำนานของฝรั่งเศสเป็นเพื่อนของผมเองครับ เรารู้จักกันเพราะชุมชน (นักดำน้ำลึก) มันแคบ ผมรู้จักกับพีเอชมา 25 ปีแล้ว และการที่เขาต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจแบบนี้ มันเป็นอะไรที่ผมเองก็ไม่รู้จะพูดถึงยังไงเหมือนกัน”


ที่มา: ABC News, Variety, BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส