สัปดาห์ก่อน Beartai Buzz เราได้นำเสนอข่าวนักแสดงของ ‘Oppenheimer’ เดินออกจากงานฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลอนดอนหลัง SAG-AFTRA หรือ สหภาพนักแสดงและศิลปินที่ทำงานด้านภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ ประกาศสไตรค์นัดหยุดงานเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังงง ๆ กับเหตุการณ์นี้อยู่เราเลยขอไล่เรียงสาเหตุและที่มาของการประท้วงนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

SAG-AFTRA เป็นใคร ?

ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮอลลีวูดจะมีหน่วยงานที่เป็นสหภาพของคนทำงานในสายอาชีพเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์แบบครบวงจรโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรวมตัวของคนทำงานในวิชาชีพนั้น ๆ อาทิ DGA (Director Guild of America) ที่เป็นการรวมตัวของผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ที่มาร่างสัญญาเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับทั้งในด้านค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและชั่วโมงในการทำงาน หรืออีกสหภาพที่เข้มแข็งมาก ๆ ได้แก่ WGA (Writer Guild of America) หรือสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาที่ดูแลผลประโยชน์ให้แก่นักเขียนบท หรือกระทั่งนักเขียนนิยายให้ได้รับค่าตอบแทนหรือการดูแลสิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะได้

ด้าน SAG – AFTRA (The Screen Actors Guild – American Federation of Television and Radio Artists)  หรือสหภาพนักแสดงและศิลปินที่ทำงานด้านภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นการรวมตัวกันของเหล่านักแสดงที่ทำงานในภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ ใช่แล้วครับนักแสดงในที่นี้รวมถึงนักพากย์ละครวิทยุด้วย โดยทำหน้าที่ในการดูแลสิทธิ สวัสดิภาพและผลประโยชน์ที่นักแสดงและศิลปินที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ควรจะได้

โดยเริ่มจาก SAG (Screen Actor Guild) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 เพื่อดูแลผลประโยชน์ให้นักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ และ  AFTRA (American Federation of Television and Radio Artists) ที่ก่อตั้งปี ค.ศ. 1937 เพื่อดูแลผลประโยชน์ให้สมาชิกศิลปินที่ทำงานในวิทยุและโทรทัศน์ จนได้มารวมตัวกันเป็น SAG-AFTRA ในปี 2012 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรและครอบคลุมการดูแลไปถึงเหล่านางแบบ นายแบบ ผู้ทำงานสื่อต่าง ๆ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

และเมื่อเกิดสหภาพเหล่านี้ขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะเป็นตัวแทนในสายอาชีพของตนตกลงผลประโยชน์ให้สมาชิกกับทาง AMPTP (Alliance of Motion Picture and Television Producers) หรือเครือข่ายผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และโทรทัศน์ ซึ่งเป็นตัวแทนสตูดิโอและผู้สร้างหนัง ซีรีส์ หรือคอนเทนต์ โดยสัญญาแต่ละฉบับจะมีอายุ 3 ปี โดยสัญญาฉบับล่าสุดหมดอายุเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และทาง AMPTP เองก็เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องที่ทาง SAG-AFTRA ได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนสัญญาหมดอายุ อันเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงครั้งนี้

สตรีมมิงเป็นเหตุ

ต้องยอมรับว่าช่วงเกิดโรคระบาด โควิด-19 เป็นตัวเร่งอุตสาหกรรมสื่อ OTT (Over the Top) หรือที่เราคุ้นเคยในนามสตรีมมิงกันอย่างยิ่งยวด แต่แน่นอนว่าสัญญาอันเกี่ยวพันกับค่าตอบแทนของนักแสดงยังไม่เคยมีการเขียนที่ครอบคลุมจนเกิดปัญหาการฟ้องร้องต่อสตูดิโออย่างดิสนีย์ทั้งกรณี สการ์เล็ต โจแฮนสัน (Scarlett Johansson) ฟ้องดิสนีย์จากการฉาย ‘Black Widow’ ผ่านทาง Disney+ พร้อมกับโรงภาพยนตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดสัญญาที่เกี่ยวพันกับส่วนแบ่งรายได้ของนักแสดงที่ลดลงจนจบลงที่ดิสนีย์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เธอถึง 40 ล้านเหรียญ

ทีนี้ก็นำมาสู่คำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว นักแสดงควรจะได้เงินจากการทำงานแสดงในคอนเทนต์สตรีมมิงอย่างไรเพราะลำพังรายได้ของผู้ให้บริการสตรีมมิงต่างพึ่งพิงกับยอดสมัครสมาชิก ในขณะเดียวกันสตรีมมิงเองก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนเข้าโรงหนังกันน้อยลงจริง ๆ ดังนั้นจึงเกิดข้อเรียกร้องให้มีการคิดส่วนแบ่ง 2% จากรายได้ของสตรีมมิงให้กับนักแสดงโดยอาศัยเครื่องมือคำนวณมูลค่าของคอนเทนต์นั้น ๆ ที่นำเสนอโดย แพร์รอต อนาลีทิกส์ (Parrot Analytics) รวมถึงส่วนแบ่งจากรายได้อื่น ๆ เช่นโฆษณาหรือสินค้าไทอินในคอนเทนต์นั้น ๆ

อีกส่วนหนึ่งคือการจำกัดช่วงเวลาในการรองานไม่เกิน 18 เดือนนับจากวันแรกที่เริ่มถ่ายทำซีรีส์ ซึ่ง SAG-AFTRA ได้บรรลุข้อตกลงนี้กับทาง Netflix เมื่อปีที่แล้วเพื่อแก้ปัญหานักแสดงต้องรอคำตอบว่าซีรีส์ที่ตัวเองแสดงจะได้ต่อซีซันต่อไปหรือไม่ เพื่อให้โอกาสในการหางานแสดงใหม่ได้ทันที ซึ่งทางสตูดิโอยอมข้อตกลงนี้สำหรับนักแสดงค่าตัวไม่เกิน 2,250,170 บาทต่อตอนสำหรับซีรีส์ไม่เกินครึ่งชั่วโมง และ 2,423,260 บาทต่อตอนสำหรับซีรีส์ความยาวหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

อัตราเงินเฟ้อทำให้ต้องเพิ่มเงินค่าตัวนักแสดง

ผลจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งก็ตรงกับปี ค.ศ. 2020 ที่เหมือนเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ค่าครองชีพต่าง ๆ สูงขึ้นแน่นอนว่าอัตราค่าตอบแทนเดิมที่นักแสดงเคยได้ไม่อาจเอามาเลี้ยงชีพได้อีกต่อไป ซึ่งนักแสดงที่เรากำลังพูดถึงไม่ได้มีเพียงแต่ดาราฮอลลีวูดชื่อดังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักแสดงประกอบฉากหรือบรรดานักแสดงรับเชิญที่รับค่าตอบแทนน้อยอีกด้วยดังนั้นทาง SAG-AFTRA จึงยื่นข้อเสนอให้ปรับค่าตอบแทนของนักแสดงดังนี้

เดิมทีทาง AMPTP เสนอให้เพิ่มอัตราค่าตอบแทนในสัญญาปีแรกที่ 5% และเพิ่มอีก 4% ในปีที่ 2 และเพิ่มอีก 3.5% ในปีถัดไป ซึ่ง SAG-AFTRA มองว่าไม่สอดคล้องกับอัตราค่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและเสนอเริ่มต้นสัญญาแรกเพิ่มขึ้นที่ 11% และเพิ่มอีก 4% ในปีถัดไปและเพิ่ม 4% ในภายหลัง 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ AMPTP เพิ่มค่าตัวให้นักแสดงประกอบฉาก 11% และเพิ่มค่าตัวให้นักแสดงรับเชิญ 58% สำหรับคอนเทนต์สตรีมมิงและเรียกร้องเพิ่มเงินชดเชยและสวัสดิการสุขภาพจากเดิมของนักแสดงในวงการโทรทัศน์จะได้ 519,270 บาทต่อปีสำหรับรายการความยาวครึ่งชั่วโมง และ 848,141 บาทต่อปีสำหรับรายการความยาว 1 ชั่วโมงขึ้นไป เป็น 1,402,029 บาทต่อปีสำหรับรายการครึ่งชั่วโมง และ 2,596,350 บาทต่อปีสำหรับรายการหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป

การแคสติงแบบ ‘Self-Taped’ เรื้อรังมาจากช่วง COVID-19

สืบเนื่องมาจากช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่นักแสดงไม่สามารถเดินทางมาออดิชันที่ ห้องแคสติงตามวิธีปฏิบัติปกติได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางมารวมตัวกันจึงเป็นการบังคับให้นักแสดงต้องจัดหาอุปกรณ์การถ่ายทำทั้งกล้องและไฟรวมถึงไมโครโฟนเพื่อดำเนินการบันทึกภาพการแคสติงส่งไปยังทีมงานของโปรดักชันนั้น ๆ ให้ผู้กำกับพิจารณา โดยที่ภาระในการจัดซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างต้องไปตกอยู่ที่นักแสดงยังไม่รวมการต้องหาพาร์ตเนอร์มาร่วมต่อบทอีก

และแม้ว่าเหตุการณ์การระบาดจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่เหมือนสตูดิโอจะใช้ช่องทางนี้เป็นทางลัดเพื่อลดต้นทุนและผลักภาระไปให้นักแสดงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทาง SAG-AFTRA จะขอต่อรองว่าหากมีการให้นักแสดงบันทึกเทปแคสติงเองจะขอต่อรองให้อ่านบทไม่เกิน 5 หน้า (จากเดิมที่ทาง AMPTP จะขอให้อ่าน 8 หน้า) และขอสงวนสิทธิ์ในการจัดไฟหรือการคุมคุณภาพวิดีโอแคสติงของนักแสดง

การมาถึงของ AI

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทกับวงการภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กระบวนการคิดสร้างสรรค์อย่างการเขียนบทที่มี AI มาคำนวณและสร้างพลอตเรื่องคร่าว ๆ หรือกระทั่งมากระทบกับนักแสดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มตั้งแต่การใช้ AI มาพากย์เสียงคอนเทนต์โดยอาศัยการเรียนรู้ของแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) ที่จับเอาน้ำเสียงของนักแสดงมาประมวลผลในการอ่านคำ ซึ่งมันทำให้เกิดคำถามว่า สิทธิในอัตลักษณ์บุคคล (right to personal identity) อยู่ที่ไหนในเมื่อสตูดิโอสามารถนำน้ำเสียงของคน ๆ หนึ่งไปใช้ได้ตลอดกาลโดยจ่ายค่าจ้างเพียงครั้งเดียว

ถ้าคิดว่าสตูดิโอยังละเมิดสิทธิของนักแสดงไม่พอ เรายังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าในปัจจุบันสตูดิโอเริ่มกระบวนการจ้างนักแสดง โดยเฉพาะนักแสดงประกอบไปเข้ากระบวนการสแกนเอาอัตลักษณ์ของนักแสดงคนนั้นตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก กิริยาการเคลื่อนไหว น้ำเสียงเวลาพูด ตลอดจนป้อนข้อมูลการแสดงให้ AI ได้เรียนรู้เพื่อนำมาข้อมูลนี้ไปใช้หากินได้ตลอดไป โดยจ่าค่าตอบแทนเท่ากับการจ้างมาแสดงเพียง 1 วันเท่านั้น

ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลเป็นภาพของนักแสดงประกอบที่นำไปใช้ได้ไม่จำกัดซึ่งไม่ต่างจากลอกและขโมยสิทธิ์ในอัตลักษณ์บุคคลเลยแม้แต่น้อย โดยทาง SAG-AFTRA เรียกร้องให้ทาง AMPTP ออกกฎรับรองการขอความเห็นชอบ (Consent) จากเจ้าของอัตลักษณ์บุคคลทุกครั้งและให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้นักแสดงโมชัน แคปเจอร์ (Motion Capture) ที่ควรได้รับสวัสดิการและค่าแรงเทียบเท่านักแสดงคนอื่น

เลิกให้นักแสดงจ่ายให้ Actors Access เพื่อหางานให้ตัวเอง 

แอคเตอร์ แอ็คเซส (Actors Access) เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ให้นักแสดงได้โพสต์ข้อมูล ประวัติผลงานเพื่อให้ทางสตูดิโอพิจารณา แต่เดิมจะมีให้เลือกคือแบบฟรี เทียร์ (Free Tier) คือใช้บริการได้ฟรีได้สิทธิ์น้อยกว่าแบบพรีเมียม เทียร์ (Premium Tier) ที่นักแสดงที่จ่ายเงินซื้อแผนนี้ได้สิทธิอัปโหลดวีดีโอและมีสิทธิ์เหนือกว่าคนใช้งานแบบฟรี ซี่งทาง SAG-AFTRA ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมว่านักแสดงไม่ควรต้องเสียเงินเพื่อหางานให้ตัวเองและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักแสดงที่มีทุนทรัพย์และนักแสดงโนเนม

จะสไตรค์ไปถึงเมื่อไหร่

การสไตรค์ของ SAG-AFTRA จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนแต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตอนยังไม่มีการรวมองค์กรและยังเป็น SAG คือในปี ค.ศ. 2000 การสไตรค์กินเวลา 6 เดือนกว่าจะตกลงกับทาง AMPTP ได้ ส่วนระยะเวลาที่สั้นที่สุดคือในปี 1986 ที่กินเวลาเพียง 14 ชั่วโมงตามหลังการสไตรค์ปี 1980 ทื่กินเวลา 3 เดือน

ส่วนการสไตรค์ของ SAG ร่วมกับ WGA ครั้งแรกคือปี ค.ศ. 1960 ซึ่งผลลัพธ์คือการที่นักแสดงที่เป็นสมาชิกได้แผนเงินชดเชยและประกันสุขภาพเป็นครั้งแรก และผ่านมา 63 ปีในปี ค.ศ. 2023 ปีนี้จะถือเป็นครั้งที่สองที่ SAG ร่วมสไตรค์กับ WGA ที่ประกาศไตรค์ให้นักเขียนหยุดงานมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (แต่ถือเป็นครั้งแรกในนาม SAG-AFTRA)

ทำอะไรได้บ้างในระหว่างการประท้วง

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสมาชิกของ SAG-AFTRA จะไม่สามารถทำงานแสดง ร่วมโปรโมต เดินพรมแดงหรือเข้าร่วมการให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อได้ โดยตัวอย่างล่าสุดได้แก่กรณีของ ทีมนักแสดง ‘Oppenheimer’ เดินออกจากงานฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลอนดอน รวมถึงการดำเนินการโปรโมตงานต่าง ๆ ทางโซเชียล มีเดียอีกด้วย แต่ในกรณีนี้ก็ยังคงมีช่วงว่างให้นักแสดงสามารถหาทางทำมาหากินได้อยู่ อาทิ

นักแสดงที่กำลังติดถ่ายทำภาพยนตร์อยู่ต่างประเทศและมีกฎหมายบังคับใช้ที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นช่องโหว่สำคัญโดยตัวอย่างล่าสุดคือการที่กองถ่าย ‘House of the Dragon’ ซีซัน 2 ยังคงดำเนินการถ่ายทำอยู่ด้วยข้อตกลงกับทาง เอควิตี้ (Equity) ที่เป็นสหภาพในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษที่ออกมาสนับสนุนแต่ก็ยังบอกอีกว่าไม่มีความจำเป็นที่นักแสดงนำอย่าง แมต สมิธ (Matt Smith) หรือ เอมมา ดาร์ซี (Emma D’Arcy) จะต้องเดินออกจากเซตหยุดการแสดงเพราะการถ่ายทำยังเกี่ยวพันไปถึงข้อกฎหมายของประเทศที่ใช้คนละฉบับกับทางสหรัฐอเมริกา

หรือโปรดักชันที่ไม่ได้ใช้นักแสดงที่เป็นสมาชิกของ SAG-AFTRA ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์ ‘Alien’ เรื่องใหม่ของช่อง เอ็ฟเอ็กซ์ ที่จะสตรีมทางฮูลู (Hulu) และ ดิสนีย์พลัส (Disney+) ทั่วโลกและเดินทางมาดำเนินการถ่ายทำในประเทศไทยพร้อมจองสตูดิโอหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและมีการจ้างอุปกรณ์ไฟไว้หมดแล้วก็จะถ่ายทำร่วมกับนักแสดงที่ไม่ได้เป็นสมาชิก SAG-AFTRA ไปก่อน โดยขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อนักแสดงนำยกเว้น ซิดนีย์ แชนด์เลอร์ (Sydney Chandler) นักแสดงอเมริกันที่อาจยังไม่สามารถมาร่วมถ่ายทำได้ระหว่างการสไตรค์

นอกจากนี้การสไตรค์ยังคงให้สิทธิสมาชิกในการไปออกรายการเกมโชว์หรือถ่ายโฆษณา และรายการใด ๆ ที่ไม่เป็นการโปรโมตผลงานการแสดงอันเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของบรรดาสตูดิโอที่เป็นสมาชิก AMPTP ได้ รวมถึงการแสดงในหนังอิสระหรือหนังต่างประเทศที่โปรดิวเซอร์หรือสตูดิโอไม่ได้เป็นสมาชิก AMPTP

ที่มา

EW

EW

Time

Variety

whatsondisneyplus

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส