[รีวิว] Spider-Man: Across the Spider-Verse ภาคต่อที่ทำให้เป็น ว่าที่ไตรภาคหนังสไปเดอร์แมนที่ดีที่สุด
Our score
8.5

Release Date

31/05/2023

ความยาว

140 นาที

ชุดไตรภาค

'Spider-Man: Into the Spider-Verse' (2018) 'Spider-Man: Across the Spider-Verse' (2023) และ 'Spider-Man: Beyond the Spider-Verse' (2024)

[รีวิว] Spider-Man: Across the Spider-Verse ภาคต่อที่ทำให้เป็น ว่าที่ไตรภาคหนังสไปเดอร์แมนที่ดีที่สุด
Our score
8.5

Spider-Man: Across the Spider-Verse

จุดเด่น

จุดสังเกต

  • บท

    8.5

  • โปรดักชัน

    8.5

  • งานพากย์

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.5

เรื่องย่อ: หนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ในภาคแรก ไมล์ส โมราเลส ไม่สามารถติดต่อกับอดีตสหายในภาคแรกรวมถึง เกวน สเตซี สุดที่รักของเขา แต่แล้วการปรากฏตัวของวายร้ายคนใหม่นามว่าสปอตที่มีพลังของหลุมมิติ ก็ได้ชักนำให้ไมล์สได้เข้ามาพัวกันและร่วมมือกับเหล่าสไปเดอร์แมนอื่นในทุกจักรวาล เพื่อรับมือกับภัยร้ายซึ่งอาจก่อให้เกิดการพังทลายของทุกจักรวาล

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

หลังจากโซนี่ได้ขยายมูลค่าของแฟรนไชส์ตัวเอง ด้วยการสร้างแอนิเมชันสไตล์งานทดลองที่ถูกใจนักวิจารณ์และมีเนื้อเรื่องแบบมัลติเวิร์สที่แฟนบอยรอคอยใน ‘Spider-Man: Into the Spider-Verse’ (2018) จนคว้าออสการ์มาครอง แน่นอนว่าทางค่ายก็ไม่รอช้าจะต่อยอดความสำเร็จโดยการประกาศหนังอีก 2 ภาคเพื่อเป็นไตรภาค Spider-Verse คือ ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ (2023) และ ‘Spider-Man: Beyond the Spider-Verse’ (2024)

ดังนั้นจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ‘Across the Spider-Verse’ จะเป็นสะพานเพื่อเชื่อมไปยังภาคสุดท้ายมากกว่าจะเป็นหนังเดี่ยวที่มีบทสรุปสมบูรณ์ในตัว แต่กระนั้นมันก็มีความทะเยอทะยานในการเล่าเรื่องขนาดใหญ่ที่มีการเดินทางท่องข้ามไปถึง 6 จักรวาล มีตัวละครในเรื่องกว่า 240 ตัวจนใครที่เป็นแฟนพันธุ์เข้มของสไปเดอร์แมนอาจต้องลายตา กรี๊ดกับทุกเวอร์ชันของสไปดี้ที่ปรากฏตัวแบบละลานตา แน่นอนว่ามันยกเครื่องทั้งเนื้อเรื่องและโปรดักชันจนกลายเป็นหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ที่ต้องใช้ทีมแอนิเมเตอร์มากถึง 1,000 คนในการทำโปรเจกต์นี้

แต่การยกเครื่องผู้กำกับใหม่ทั้งชุด จากในภาคแรกที่ยังพอมีผลงานหนังยาวการันตีมาบ้าง กลายมาเป็น วาคิม ดอส ซานโตส (Joaquim Dos Santos) เคมป์ พาวเวอร์ส (Kemp Powers) และจัสติน เค. ธอมป์สัน (Justin K. Thompson) ที่มีผลงานแอนิเมชันทีวีซีรีส์เสียส่วนใหญ่

โดยจะมีทีมงานเดิมที่หลุดมาก็เพียงมือเขียนบท ฟิล ลอร์ด (Phil Lord) ที่คงมาช่วยให้เรื่องราวสานต่อราบรื่น กับเพิ่มทีมเขียนบทมาด้วยอีก 2 คน คือ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ (Christopher Miller) และ เดฟ กัลลาแฮม (Dave Callaham) ที่รายหลังเพิ่งมีผลงานอย่าง ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ (2021) ดูเป็นงานที่ดูดีสุด แต่ก็ยังไม่น่าจะมากพอ

ประกอบกับปัญหาการผลิตในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดฉายมาถึง 2 ครั้ง พูดตรง ๆ คือน่าห่วงอยู่นิด ๆ ในตอนแรก แต่พวกเขาก็เอาผลงานเรื่องนี้พิสูจน์คำครหาไปได้อย่างสวยงาม

หนังยังคงแสดงความทะเยอทะยานด้านภาพอย่างเด่นชัดอย่างที่ภาคแรกทำให้ตกตะลึงมาแล้ว ว่าหนังใหญ่เน้นตลาดทั่วไปจะกล้าใช้งานแบบอาร์ตเหมือนพวกแอนิเมชันแนวทดลองขนาดนี้ แต่หลังจากช่วยเบิกทางมา และผู้ชมก็ได้เจอทั้งซีรีส์ ‘Love Death + Robots’ (2019) และ ‘Arcane’ (2021) มันก็ทำให้การดูหนังภาคนี้ไม่โหดร้ายต่อสายตาเรามากนัก ซ้ำผู้สร้างยังน่าจะรู้และลดดีกรีความระห่ำลงทั้งพวกตัวละครกระพริบที่กวนตาสุด ๆ จากการข้ามมิติก็ลดน้อยลงมาก แถมสไตล์ภาพในแต่ละจักรวาลก็มีความต่างกันแต่ที่สังเกตได้คือใช้งานภาพแบบที่สบายตามากขึ้น ความใกล้เคียงจะไปทางซีรีส์ ‘Arcane’ ที่สวยเท่ แต่ในหลายฉากต่อสู้ก็ต้องยอมรับว่ายังวูบวาบตามได้ยากนิด ๆ เหมือนกัน

Spider-Man: Across the Spider-Verse

ส่วนที่น่าสนใจคือในภาคนี้ได้มีตัวละครใหม่ ๆ อย่าง สปอต หรือ ดร. โจห์นาธอน โอห์น วายร้ายพลังหลุมมิติที่ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิกปี 1984 ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเป็นตัวร้ายที่เท่และมีสีสันมากตั้งแต่ครั้งอ่านหนังสือ ทั้งยังเป็นคู่ปรับที่มีพลังน่าสนใจมาก ๆ เพราะตามฉบับเดิมสปอตจะมีพลังที่โจมตีใส่สไปเดอร์แมนได้โดยที่สไปเดอร์เซนส์ไม่สามารถรับรู้ล่วงหน้าได้ ด้วยเพราะสปอตใช้การโจมตีมาจากมิติอื่นผ่านหลุมมิติบนตัวนั่นเอง

ตัวละครนี้ได้ เจสัน ชวาต์ซแมน (Jason Schwartzman) มาให้เสียง ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับที่หนังได้เพิ่มมิติให้ตัวละครนี้มีความแตกต่างไปจากเดิม ทั้งบุคลิกซุ่มซ่ามเซ่อซ่าในช่วงแรกแต่ก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นและเผยปมว่าเขาคือหนึ่งในเหยื่อผลพวงจากเหตุการณ์ในภาคแรก พอรวมกับบุคลิกแบบบ้าบอคาดเดายากหลังจากพบว่าหลุมมิติของเขาใช้ข้ามไปจักรวาลอื่นได้ ก็ทำให้เขาลงมือแก้แค้นได้อย่างน่าหวาดหวั่นอย่างที่สุด

Spider-Man: Across the Spider-Verse

นอกจากนี้บทบาทที่เข้ามาเต็มตัวหลังจากปรากฏในเอนด์เครดิตสั้น ๆ ในภาคแรกของ สไปเดอร์แมน 2099 หรือ มิเกล โอฮารา ซึ่งรับบทผู้นำกลุ่มสไปเดอร์-โซไซตี้ที่รวบรวมสไปเดอร์แมนในทุกจักรวาล และได้ ออสการ์ ไอแซก (Oscar Isaac) ให้เสียงที่ลุ่มลึกมีพลังก็ทำให้เรื่องราวน่าสนใจ ตัวละครโอฮาราถือว่าถูกวางมาเป็นปมใหม่ของเรื่องที่มีมิติหลายแง่มุมชวนถกเถียงถึงคำว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร จริง ๆ ก็มีความคล้ายกับหนังที่เล่นกับผู้พิทักษ์เส้นเวลาเรื่องอื่น ๆ อยู่บ้าง ต่างกันแค่เรื่องนี้สามารถขยายโชคชะตาของการเป็นสไปเดอร์แมนนั้น คือตัวร้ายหนึ่งของเรื่องได้อย่างกลมกลืนและทรงพลังมาก และมันโน้มน้าวเราให้อินจนเครียดตามไมล์สและเหล่าผองเพื่อนไปด้วย

หนังมันทรงพลังเสียจนคิดว่านี่อาจกลายเป็นว่าที่หนังไตรภาคของสไปเดอร์แมนที่ดีที่สุดที่เคยมีการสร้างมาเลยก็ได้ มันอหังการ์ต่อทั้งแฟนบอยที่ได้ดูสไปดี้รวมกันในหนังมากที่สุดในทุกจักรวาลทั้งคอมิก แอนิเมชัน เกม หนังคนแสดง มันอหังการ์ต่อนักวิจารณ์ด้วยงานภาพชั้นยอด เนื้อหาที่เข้มข้นสร้างปมขัดแย้งในทุกระดับโดยมีตัวร้ายที่ยอดเยี่ยมรวมถึงพัฒนาการของตัวละครผ่านเรื่องราวของครอบครัวที่ชวนปวดหัวใจ และมันอหังการ์ต่อคนดูหนังทั่วไป ที่จะอิน ซึ้งร้องไห้ เครียดจริงจังซีเรียส และหัวเราะขบขัน ลุ้นมัน บันเทิง ไปพร้อมกันอย่างลงตัว

หนังมีข้อเสียบ้างตรงที่เวลาค่อนข้างนานถึง 2 ชั่วโมงเกือบครึ่ง ซึ่งภาพรวมอาจสนุกจนเหมือนเวลาผ่านไปไวแต่ก็มีหลายฉากดราม่าที่ทำได้ดีจนเป็นหนังสั้นซึ้ง ๆ สักเรื่องได้เลย แต่ด้วยจังหวะที่ต้องยืดเพื่อขยี้ทำให้รู้สึกว่าพอหนังจังหวะมันไวอยู่ดี ๆ แล้วมันกระชากจนย้วยลงหน่อย นอกจากนี้ปมสำคัญของเรื่องที่อาจทอดยาวไปถึงภาคหน้ามันมีคำใบ้ผ่านเรื่องราวของเกวนที่ชวนให้รู้สึกว่าอาจจะเล่นท่าง่ายไปสักหน่อย แต่ก็เชื่อว่าหนังน่าจะใส่อุปสรรคผ่านความขัดแย้งที่ก่อร่างขึ้นกลายเป็น 3-4 กลุ่มที่ผลประโยชน์ขัดกันคนละทางในท้ายเรื่อง ไปเติมเต็มให้ปมหลักมันต้องลุ้นกันจนหยาดสุดท้ายของภาคจบเลยทีเดียว

นอกจากนี้การจบให้ค้างคาแบบที่คนดูรู้ว่าต้องรอไปถึงปีหน้าถึงจะได้รู้บทสรุปของตัวละครแต่ละตัวใน ‘Spider-Man: Beyond the Spider-Verse’ แบบนี้

มันทรมานสิ้นดี

Spider-Man: Across the Spider-Verse