[รีวิวซีรีส์] Squid Game: ดราม่าเดือดพล่าน ผ่านการละเล่นเด็กสุดโหด

Release Date

17/09/2021

ความยาว

9 ตอน ตอนละประมาณ 50-60 นาที (จบในเรื่อง แต่อาจมีต่อได้)

[รีวิวซีรีส์] Squid Game: ดราม่าเดือดพล่าน ผ่านการละเล่นเด็กสุดโหด
Our score
8.5

Squid Game เล่นลุ้นตาย

จุดเด่น

  1. นักแสดงคุณภาพ บทมีลีลาผสมผสานแนวตามสูตรและพลิกแพลงได้น่าสนใจ เป็นเอกลักษณ์ต่างจากแนวเซอร์ไววัลอื่น ๆ ด้านดราม่าไม่ต้องพูดถึงเกาหลีพี่เทพอยู่แล้ว ที่สำคัญมีกงยูรับเชิญแบบงานดีมาก

จุดสังเกต

  1. ใช้ความบังเอิญดันเรื่องพอประมาณ เกมการละเล่นด่านสุดท้ายเข้าใจยากไป เอาเกมปลาหมึกมาเป็นชื่อเรื่องแต่ใช้ได้เบาบางไปหน่อย บางช่วงพัฒนาการตัวละครแกว่ง ๆ
  • บท

    7.5

  • โปรดักชัน

    8.0

  • การแสดง

    9.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.0

เรื่องย่อ: สควิดเกม เล่นลุ้นตาย จะอยู่หรือตาย ผู้ถูกเลือกจำนวน 456 คน ใครจะรอดชีวิตและคว้ารางวัล 45,600 ล้านวอน ผ่านเกมที่แปลงจากการละเล่นของเด็กเกาหลีใต้สู่เกมโหดที่คนแพ้ต้องตาย

เนื้อหาเน็ตฟลิกซ์จากเกาหลีเรียกว่าไปได้สวยและกล้าทะเยอทะยานมากขึ้นในทุกเรื่องทีเดียว เห็นได้ชัดขึ้นไปกับเรื่องนี้ด้วยว่า พวกเขาไม่ได้มองแค่ความนิยมในเอเชียอีกแล้วแต่จะสานต่อความสำเร็จในระดับโลก อย่างที่ซีรีส์ซอมบี้โชซอนอย่าง ‘Kingdom’ กรุยทางไว้สวยงาม

ตัวเนื้อหาอาจเรียกได้ว่ามีกลิ่นอายที่แปลกใหม่สำหรับออริจินัลคอนเทนต์ของเกาหลีที่จะเอาตัวละครจำนวนมากมาเล่นเซอร์ไววัลเกม ซึ่งผู้ชมหนังน่าจะคุ้นชินกับหนังหรือซีรีส์ของญี่ปุ่นเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดเน็ตฟลิกซ์ญี่ปุ่นเองก็เพิ่งมีซีรีส์อย่าง ‘Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ’ มาประกาศความเป็นราชาแนวเซอร์ไววัลเกมหมาด ๆ ด้วย

Squid Game

หากแต่จุดเด่นของ ‘Squid Game เล่นลุ้นตาย’ ที่แตกต่างชัดเจน คือการสอดแทรกการละเล่นของเด็กเกาหลีมาคิดเป็นเกมแต่ละเกมได้อย่างน่าสนใจ เช่น เกมปลาหมึก ที่ผสมระหว่างตี่จับกับเกมตาราง โดยยังกลมกลืนกับบางด่านที่ผู้ชมนอกเกาหลีก็สามารถเข้าใจได้ง่าย เช่นเกมเออีไอโอยู-หยุด ที่แม้แต่เด็กบ้านเราก็น่าจะเคยเล่น และบางด่านก็นำกลไกจิตวิทยามาเล่นกลายเป็นแนวแบตเทิลรอยัลได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เห็นได้เลยว่าคิดด่านคิดเกมมาละเอียดดีไม่น้อย ส่วนตัวชอบเกมที่หยิบเอาความกลัวจากคลิปพวกพื้นกระจกที่คนเดินออกไปแล้วแตกมาประยุกต์เล่นเป็นเกมได้อย่างน่าตื่นเต้นดีทีเดียว

Squid Game

ทั้งนี้ที่ชัดเจนอีกอย่างคือ ‘Squid Game’ ไม่ใช่เซอร์ไววัลเกมที่เน้นการสังเกตหาจุดอ่อนของระบบ และใช้ความเฉลียวฉลาดเพื่อพิชิตสไตล์ญี่ปุ่นเลย หากแต่เอาหนังแนวเล่นเกมมาเป็นผิวหนังเพื่อห่อหุ้มโครงสร้างแกนกลางที่เป็นเรื่องของดราม่าระหว่างตัวละครที่ต้องมาอยู่ร่วมกันและมีภูมิหลังที่เป็นเหตุผลจูงใจให้พวกเขาชนะไม่ด้อยไปกว่ากันมากกว่า ถ้าเทียบสัดส่วนความฉลาดกับดราม่าของญี่ปุ่นจะประมาณ 70:30 ของเกาหลีก็น่าจะกลับกันเป็น 30:70 แทนนั่นเอง ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้เลยว่าจำเป็นที่จะต้องใช้เรื่องจังหวะพอดีหรือความบังเอิญมาบ้างเพื่อให้เรื่องเดินไปได้ เพราะตัวละครไม่เก่งขนาดจะเอาชนะระบบหรือกติกาของเรื่องได้

แต่การที่ตัวละครเอาชนะระบบไม่ได้นี้ก็เหมาะสมกับแก่นเรื่องการรักษามนุษยธรรมในยามที่สถานการณ์บีบบังคับไม่เอื้ออำนวย ที่ผู้กำกับ ฮวังดงฮยอก ที่เคยมีผลงานดังอย่างหนัง ‘Silenced เสียงจากหัวใจ..ที่ไม่มีใครได้ยิน’ ซึ่งเคยเป็นหนังแห่งปีของเกาหลีที่ได้ กงยู มารับบทนำ ต้องการถ่ายทอดได้อย่างพอดิบพอดีเช่นกัน พอธีมมันจริงมากอยู่ในโลกความเป็นจริงมาก ๆ แม้เนื้อหาจะมีความแฟนตาซีอยู่บ้างแต่เราก็จะอินได้มากกว่า และหนึ่งในมุกที่ซีรีส์เอามาใช้ได้สมจริงอย่างที่หนังแนวนี้ลืมพูดถึงไปคือ การคอร์รัปชันภายในระบบเองที่ผู้คุมเกมก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่มีการฉกฉวยโอกาสเอาประโยชน์จากเกมจนกลายมาเป็นรูโหว่ให้ระบบได้เช่นกัน ตรงนี้ชอบมาก

Squid Game

นอกจากนี้การสร้างเส้นเรื่อง ความสนุกของเรื่อง ก็ถือว่าลีลาแปลกประหลาดไม่เบาไม่เป็นไปตามที่เราคุ้นเคย เพราะมีกติกาที่ผู้เล่นสามารถขอโหวตเพื่อหยุดเล่นเกมได้ตลอดเวลา ในขณะที่พอเราลุ่มหลงไปกับความสนุกของเกมด่านต่าง ๆ เราก็มักจะหลงลืมว่ามีกติกานี้อยู่ และเมื่อเราระลึกได้เราก็จะรู้สึกว่าบางทีถ้าตัวละครมีสติมากกว่านี้อาจหยุดยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดลงได้ก่อนก็ได้ แต่ก็เช่นกันขนาดเราเป็นผู้ชมเรายังสนใจแต่จะลุ้นเกมเลย นี่จึงนำมาสู่ตอนที่ 6 ที่บาดสะบั้นอารมณ์ผู้ชมแบบสุด ๆ กันไปเลย

อีกด้านที่ประทับใจเลยคือนักแสดงที่จัดมาได้ดีมาก ๆ ทั้ง อีจุงแจ ที่รับบทนำเป็น กีฮุน คุณพ่อสุดห่วยชีวิตเหลวเป๋วที่เริ่มเรื่องเราแทบหามุมอยากเอาใจช่วยแทบไม่ได้ทั้งบ้าพนันทำตัวเองจนบ้านพัง แต่ซีรีส์ค่อนข้างให้เวลาในการเซตเรื่องปูพื้นพอสมควรถึงขนาดใช้เต็ม ๆ ไปเกือบ 2 ตอนแรก เราก็เห็นมิติในตัวละครมากขึ้นดูน่าเอาใจช่วยขึ้น และเพราะความเป็นคนไม่เอาไหนการต่อสู้ของกีฮุนเลยดูแบบมวยวัดพอสมควร

Squid Game
อีจุงแจ

จึงจำเป็นที่ต้องหาคู่หูอย่างนักแสดง พัคแฮซู ที่มารับบท ซังอู เพื่อนละแวกบ้านวัยเด็กที่ฉลาดเรียนสูงแต่ไปก่อคดียักยอกเงินจนต้องมาเล่นเกมเอาเงิน กลายมาเป็นมันสมองให้กีฮุนที่เป็นเหมือนพวกใช้หัวใจเพียว ๆ มากกว่า แล้วทั้งคู่ก็ดึงความเร่าร้อนของตัวละครทั้งสองออกมาผ่านพัฒนาการตัวละครที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เลือกวิธีการมากขึ้นเรื่อย ๆ สูญเสียความเป็นมนุษย์มากขึึ้นเรื่อย ๆ ได้โคตรสนุก

Squid Game
พัคแฮซู

และหลายคนคงรู้ว่าเรื่องนี้ได้ กงยู มารับเชิญด้วย และต้องบอกว่าถึงมาแค่ตอนเดียวแต่ก็มาแบบคุ้มจัด ๆ ไม่ได้แค่โผล่มาทักให้แฟนคลับกรี๊ดกร๊าดแล้วจบไป แต่ได้โชว์การแสดงแบบร้ายลึกที่ขโมยซีนไปแบบเต็ม ๆ ดีมาก ๆ

มาถึงข้อเสีย อย่างที่พูดเปรยไปว่าหนังปูพื้นกันยาว ๆ เกือบ 2 ตอนคือก็แอบนานไป เอาไปหยอดระหว่างทางเพิ่มเอาก็ได้ และบางจุดก็หยอดไว้แล้วทิ้งไม่เฉลยต่อก็มีงง ๆ บ้างเหมือนกัน ในขณะที่ตอนที่ 6 คือตอนที่เปลี่ยนโมเมนตัมของเรื่องมากที่สุด ทว่าก็เปลี่ยนบุคลิกตัวละครหลายตัวจนขาดความน่าเชื่อไปสักนิด และก็รู้สึกเป๋ไปนานพอสมควรกว่าจะเริ่มกลับหาทางให้บุคลิกตัวละครกลับมาคงที่ได้

Squid Game

และถ้ามองข้ามเรื่องความบังเอิญที่ถูกเอามาใช้เชื่อมต่อเรื่องบ้างหลายครั้งไปได้ มันก็ยังมีมุกแบบตามสูตรที่เราเดาได้ล่วงหน้าเลยว่าไอ้ตัวละครทรงนี้มันก็ต้องคือคนนี้คนนั้นแน่ ๆ อะไรแบบนั้นอีก ก็ไม่ได้ว่าเลวร้าย แต่ลดทอนความดีเด่นของเรื่องลงไปไม่น้อย ความแปลก ๆ ที่ไม่เมกเซนส์อีกประการที่รู้สึกได้คือจำนวนคนที่แพ้เกมแต่ละด่านดูตัวเลขที่แสดงน้อยกว่าภาพที่ปรากฏไปเยอะพอสมควร แบบดูในฉากน่าจะมีแพ้เป็นร้อย แต่พอประกาศยอดตัวเลขดันแค่หลายสิบคนเป็นต้น

Squid Game

นี่ยังต้องพูดถึงว่าไคลแมกซ์ของเรื่องอย่างเกมด่านสุดท้ายนั้น ดูเบาไปนิด และมีความไม่ลงตัวหลายอย่างคือกติกาแอบซับซ้อนสำหรับคนที่ไม่ใช่เกาหลี แต่ก็อยากจะทอนรายละเอียดให้กลายเป็นสังเวียนต่อสู้เอาชีวิตเข้าแลกเน้นอารมณ์ ซึ่งไม่เข้ากันไปเสียแทน แล้วชื่อเรื่อง ‘Squid Game’ ก็ถูกเอามาใช้ทั้งทางตรงและทางเปรียบเปรยได้น้อยไปหน่อย น่าเสียดาย

โดยรวม เป็นซีรีส์เซอร์ไววัลเกมกติกาแปลกใหม่และให้รสชาติไม่ซ้ำใครดี น่าสนใจทีเดียว

Squid Game

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส