[รีวิว] ชะตาธิปไตย: บันทึกประวัติศาสตร์ทางเลือก ที่ผู้สร้างไม่มีสิทธิ์เลือก
Our score
8.3

ชะตาธิปไตย

จุดเด่น

  1. บันทึกภาพการหาเสียงเลือกตั้งผ่านมุมผู้สมัครที่เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของไทยอันหาไม่ได้
  2. วิธีการเล่าเชิงกวีที่ทำให้หนังมีลีลามากกว่าสารคดีธรรมดา

จุดสังเกต

  1. บทสรุปการเล่าเรื่องที่อาจไม่ชัดเจนเพราะฟุตเทจไม่ได้เอื้ออำนวยมาเช่นนั้น
  2. การเลี่ยงการพิพาทกันอย่างชัดเจนของซับเจ็กต์ทำให้ขาดน้ำหนักเรื่องความสัมพันธ์
  3. ลีลาเชิงกวีอาจทำให้หนังเนือยและเข้าถึงยากขึ้น
  4. เวลาที่ยาวมากถึง 130 นาที
  • ความน่าสนใจของซับเจ็กต์สารคดี

    10.0

  • วิธีการเล่าเรื่องสารคดี

    8.0

  • คุณภาพโปรดักชั่น การผลิต ความแปลกใหม่

    8.0

  • ความน่าติดตาม หยุดดูไม่ได้

    7.0

  • คุ้มเวลา ค่าตั๋ว

    8.5

เรื่องย่อ นี่คือสารคดีไทยแท้ ที่รอการเผยแพร่นานถึง 7 ปี! หนังบันทึกบรรยากาศการเลือกตั้งและเหตุการณ์หลังจากได้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยติดตามสามผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นเพื่อนสนิทกันเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย แต่ดันลงสมัครผู้แทนฯจากคนละขั้วพรรคการเมือง มิตรภาพกลายเป็นการแข่งขันในสนามการเลือกตั้งครั้งที่คึกคักและดุเดือดที่สุด …นับจากสลายการชุมนุมมาสู่น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554

 

ไทม์ไลน์ของผู้สร้างจนหนังก่อรูป
2530 พวกเราทั้ง 6 คนในภาพยนตร์จบแพทย์พร้อมกัน ชลน่านกลับไปทำงานที่น่าน ภูมินทร์ไปแม่ฮ่องสอน บัญญัติอุบล ส่วนผมเรียนเชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อศิริราช
2535 ภูมินทร์ได้เป็นสส.สมัยแรก สังกัดพรรคความหวังใหม่ ผมลาออกจากราชการมาทำงานสายกราฟิก โฆษณา และภาพยนตร์
2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผมกลับมารับราชการเป็นอาจารย์แพทย์ที่ขอนแก่น
2544 ชลน่านเป็นสส.สมัยแรก ภูมินทร์เลื่อนขึ้นเป็นสส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ผมลาออกจากราชการอีกครั้งมาเปิดกิจการโปรดักชันของตนเอง 2547 หนังสั้นเรื่องที่ 4 ของผมได้รางวัลมูลนิธิหนังไทย (ปีเดียวและรางวัลเดียวกันกับ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก.หนังเรื่องมะลิลา) และได้เป็นตัวแทนของไทยเข้าชิงในเทศกาลหนังสั้นโลกที่ฝรั่งเศส
2550 สารคดีสั้นเรื่องแรกของผมเข้ารอบชิง ชลน่านชวนผมทำหนังตามติดชีวิตสส. ผมยังไม่ตอบรับ
2551 บัญญัติเป็นสส.สมัยแรก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ บทภาพยนตร์ขนาดยาวของผมได้เข้า pitch ในงาน Thailand Script Project ของพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผมรอทำโพรเจกต์นั้นและพยายามพัฒนาสารคดีฉายโรงอีกโพรเจกต์อยู่ 2 ปี
2553 วิกฤตการเมืองของไทยทะยานสู่จุดสูงสุด ผมสะเทือนใจจนเขียนบทสารคดี classmate ประเทศไทยเสร็จภายในเวลาไม่กี่วัน
2554 ผมติดต่อกลับไปยังทั้ง 3 คนขออนุญาตถ่ายหนัง ซ้อมถ่ายกันอยู่เป็นเดือนจนทั้ง 3 คนโอเคกับการถ่ายสารคดีแบบผม พอถ่ายจริงไป 2 เดือน บทเปลี่ยน เปลี่ยนชื่อหนังเป็น “ชะตาธิปไตย” สารคดีถ่ายอยู่ทั้งหมด 5 เดือน และตัดต่ออยู่ 2 ปี
2556 หนังเสร็จ พยายามหาลู่ทางฉาย กำนันพาคนลงถนน ทหารปฎิวัติ ทุกอย่างจบเห่ ผมป่วยจนต้องทิ้งหนังไปเลย
– 6 ปี แห่งการพยายามไม่นึกถึงมันอีก –
2562 ข้อความหนึ่งปรากฏขึ้นมาใน facebook “ยังอยากฉายหนังอยู่มั้ยพี่” ผมร้องไห้…

นี่อาจเป็นผลงานสารคดีที่แฟนการเมืองไทยอาจรอคอยมาแสนนาน มันอาจไม่ใช่ผลงานรวมปรมาจารย์หรือกูรูมาแสดงทรรศนะเพื่อหาคอนเซ็ปต์หรือรูปร่างแท้จริงของการเมืองในบ้านเรา ในแบบที่ Paradoxocracy ประชาธิป”ไทย” ของ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ เคยทำไว้ แต่ความน่าสนใจที่มันดึงดูดเราทันที่ตั้งแต่แรกพบคือ ‘ความเป็นธรรมชาติอันเป็นไปอย่างไร้การกำหนด’ ซึ่งเป็นสาระแห่งสารคดีในแบบการถ่ายทอดเหตุการณ์ และ ชะตาธิปไตย ก็ผ่านห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ความไร้แก่นสารแห่งสถานการณ์อันวุ่นวายในตัวสารคดี ตลอดจนความผันผวนในกระบวนการสร้าง ตั้งแต่ต้นธารความคิดริเริ่มที่ตั้งใจเป็นหนังติดตาม ส.ส. ใหม่อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จนมาเป็นว่าเล่าเรื่องเพื่อนร่วมรุ่น 3 คนต่างแข่งขันในเวทีการเมืองโดยมีจุดยืนคนละฟากฝั่ง และท้ายสุดโดยไม่ตั้งใจมันก็กลายเป็นสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์เมืองไทย ผ่านเรื่องราวของมิตรภาพและจุดยืนไป อย่างที่อำนาจเหนือการกำหนดของมนุษย์อาจได้จรดปากกาไว้แต่เริ่ม โดยตัวผู้กำกับและผู้ถูกถ่ายก็ไม่ทันรู้ตัว และนั่นจึงทำให้หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถึง 7 ปี หลังหนังเสร็จ จึงจะได้ออกฉายให้กับคนทั่วไปได้ชม

 

ชะตาธิปไตย

“ผมเริ่มถามตัวเองว่ามันจะมีคนไทยสักกี่คน ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นลงสมัคร ส.ส. 3 คนอยู่ 3 พรรคต่างขั้วกัน แถมไอ้คนคนนั้นมันยังพอทำหนังเป็น พอมีเงินทำหนังได้ด้วยตัวเอง และมันมีอะไรอยากจะบอกกับประเทศนี้อยู่บ้าง…ผมเชื่อว่ามีผมคนเดียว ที่พอจะเป็นไอ้คนคนนั้นได้ ประมาณว่าถ้ากูไม่ทำ ใครจะทำได้อีกวะ – นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล”
ผู้กำกับของหนังเรื่องนี้คือเพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาแพทย์ศิริราชของ ส.ส. ทั้ง 3 ท่าน เขาคือ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้หลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์อย่างถอนตัวได้ยาก และโชคชะตาก็พาลพาเขามาถ่ายทอดเรื่องราวที่มีเพียงเขาเท่านั้นที่คงทำได้ หากไม่ใช่เพราะเขาเป็นเพื่อนของ ส.ส. ทั้งสามท่าน คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.จังหวัดน่านพรรคไทยรักไทย และเป็น ส.ส.จังหวัดน่านพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ อดีตผู้สมัครพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ปัจจุบันสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายคือ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.จังหวัดระยองพรรคประชาธิปัตย์จวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเป็นเพื่อนของ นพ.เดชา นี้เอง จึงสามารถเข้าถึงเบื้องหลังการสู้ศึกเลือกตั้งของทั้ง 3 ท่านนี้ได้ และเดิมทีหนังเรื่องนี้จึงเคยมีชื่อโพรเจกต์ที่ชื่อว่า Classmate ที่สะท้อนความเป็นเพื่อนเรียนก่อนการมาเป็นผู้ยืนคนละฝั่งทางการเมืองในภายหลัง

ความน่าสนใจของหนังจึงอยู่ที่การบันทึกเรียงร้อยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ปี 2553 จนนายกอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา เรื่อยมาจนถึงการแข่งขันชิงชัยจนได้มาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเข้าสู่ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 อีกเล็กน้อยนั่นเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของสารคดีจึงหนักอยู่ตรงช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละคนเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องดีที่น่าเสียดาย เอาตามจริงคือก่อนเข้าชมคาดหวังว่ามันจะเป็นสารคดีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์บนทางเลือกที่ต่างของเพื่อน 3 คนที่มีการเมืองไทยเป็นฉากหลังสะท้อนค่าของมิตรภาพระหว่างมนุษย์ และความขัดแย้งในสังคมที่บานปลาย และเชื่อว่าผู้กำกับเดชาเองก็คงเข้าใจว่าตนเองอาจทำหนังแบบนั้นอยู่ ทว่าบทอันชะตาได้เขียนเองไว้ไม่ได้อนุญาตให้หนังเรื่องนี้เป็นเช่นนั้น

ชะตาธิปไตย

ตลอดระยะเวลาของหนังมันคือการต่างคนต่างไป เหมือนติดตามการหาเสียงมุมมองและความคิดของคน 3 คน ที่บังเอิญเคยเรียนที่เดียวกันเสียมากกว่าเป็นเพื่อนกัน เพราะไม่เคยมีใครพูดถึงใคร ไม่มีฉากที่ปรากฏตัวร่วมกัน (เพราะพื้นที่หาเสียงอยู่คนละภาค) ไม่มีแม้แต่หลังการชิงชัยทั้งสามจะพานพบกันในหน้าฉากของการเมือง หากไม่เพราะเสียงของตัวผู้กำกับและเพื่อนอีกคนที่ช่วยเล่าแล้ว เราคงไม่อาจรู้ได้เลยว่าทั้ง 3 คนมีความเกี่ยวข้องกัน นี่จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่หนังขาดมุมนี้อันจะส่งผล ให้ไม่เข้าเป้าหมายของหนังไป แต่ในความน่าเสียดายมีเรื่องดีอยู่เช่นกัน

มันทำให้เราเห็นความแตกต่างของแต่ละคนในแง่ลึก การทำการตลาดในพื้นที่ต่างกัน พวกเขาต้องใช้วิธีการที่ต่างกันและบางอย่างก็ชวนถกเถียงอยู่ไม่น้อย ทั้งการซื้อเสียงที่นัยหนังปานจะบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการเป็นผู้แทนตามวัฒนธรรมของภาคหนึ่ง การเห็นการทำความผิดทางวัฒนธรรมซึ่งหน้าอย่างการเปิดบ่อนในงานศพก็เป็นเรื่องที่ดูยอมรับได้ในฐานะผู้จะเข้าไปทำหน้าที่ของรัฐ และคนทุกคนต่างมีรอยแผลที่อุกฉกรรจ์ซ่อนไว้ ไม่มีใครที่เป็นฮีโรที่แท้จริง คนที่ดูเรียบร้อยสุภาพอาจซ่อนความเบื่อหน่ายทางการเมืองและทนต่อการปั้นสีหน้าในการหาเสียงอยู่ภายใน คนหนึ่งดูเป็นผู้แทนที่เพียบพร้อมทางจิตใจ แต่กลับซ่อนปมเรื่องการเสียแม่เอาไว้ และเมื่อถึงเวลาหนึ่งเขาก็มีมุมมืดในเรื่องของผู้หญิงอย่างน่าเคลือบแคลงในบรรทัดฐานทางจริยธรรม

ชะตาธิปไตย ชะตาธิปไตย

คือเราอาจไม่ได้แง่มุมเชิงความสัมพันธ์ แต่เราได้เห็นมนุษย์การเมืองที่วิ่งวนว่ายวนอยู่ในการเมืองแบบไทย ๆ ที่ทั้งแปลกประหลาดและบิดบรรทัดฐานใด ๆ อย่างผิดเพี้ยนจนชวนกระอักกระอ่วนใจหลายครั้งหลายครา เราได้เห็นบทบันทึกประวัติศาสตร์การหาเสียงในแต่ละภาคของไทย การตอบรับของชาวบ้านและมุมมองทางสังคมจากคนรอบนอกที่ไม่ใช่เมืองหลวง ตรงนั้นเสียอีกที่ชัดเจนและน่าสนใจอย่างมาก เพราะไม่มีสารคดีเรื่องไหนจะช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนประกอบรอบนอกเช่นนี้เอาไว้อีกแล้ว

หนังยังได้ รัฐกร โกมล ผู้คร่ำหวอดในวงการเบื้องหลังด้านดนตรีมาช่วยทำเพลงประกอบในแนว โพสต์ร็อก ด้วย ซึ่งเพลงนี้ก็อธิบายบรรยากาศและสภาวะทางจิตใจของห้วงเวลาหนึ่งในสังคมเราได้ดีเหลือเกิน

Play video

สารคดีเรื่องนี้เข้าฉายเฉพาะโรง LIDO CONNECT ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ตุลาคมนี้ ผู้สนใจสามารถซื้อตั๋วได้ที่หน้าโรงหนังลิโด้ 2 หรือจองตั๋วผ่านทาง www.ticketmelon.com/lidoconnect ได้เลย

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส