ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การช่วยทำงานซับซ้อนให้เสร็จในพริบตา ไปจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีเกินคาด แต่อีกด้านความสามารถอันน่าทึ่งนี้ก็ได้กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการบิดเบือนความจริงที่น่ากลัวกว่าเดิม

เคสเตือนภัยจริง หลอกจริง แต่ภาพปลอมจาก AI

ปัจจุบันนี้ AI หลาย ๆ โมเดลได้พัฒนาความสามารถที่ขยายขอบเขตมากขึ้น ทั้งสร้างภาพให้ขยับได้หรือเจนวิดีโอให้ง่ายในคลิกเดียว และผลลัพธ์ที่ได้เสมือนจริงจนแทบแยกไม่ออกแล้ว 

จากเหตุการณ์สามีภรรยาสูงวัยชาวมาเลเซีย ขับรถไกลกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อตามหากระเช้าลอยฟ้า Kuak SkyRide สถานที่สุดฮิตที่เป็นกระแสไวรัล โดยเนื้อหาในคลิปเป็นภาพนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ปลอมที่ชื่อว่า TV Rakyat สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวที่มาเข้าคิวรอซื้อตั๋วกันเพียบ แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าสร้างจาก AI นี่ไม่ใช่เรื่องตลกที่น่าขำอีกต่อไป แต่เป็นสัญญาณเตือนว่า AI สามารถบิดเบือนความจริงและสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย อันตรายกว่าที่คิด

ไม่ใช่แค่ภาพวิว แต่คือความจริงที่ถูกบิดเบือนหลายรูปแบบ

ความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดนี้ ถูกนำไปสร้างให้บิดเบือนความจริงในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเพื่อความสนุกหรือเจตนาหลอกลวง ได้แก่

  • ภาพบุคคลและเหตุการณ์ปลอม AI สามารถสร้างวิดีโอและภาพบุคคลที่ไม่มีตัวตนขึ้นมาได้อย่างสมจริงจนแทบจะแยกได้ยาก โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีเรื่องราวว่า “คนในคลิปนั้นเป็นคนจริงไม่ได้เกิดจาก Prompt” ยิ่งสร้างความสับสนไปอีก
  • สินค้าและรีวิวปลอม ภาพสินค้าที่สวยงามเกินจริง หรือวิดีโอรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่มีตัวตน สามารถชักจูงให้เราตัดสินใจซื้อสินค้าที่อาจไม่มีคุณภาพ หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย
  • ข่าวสารและข้อมูลเท็จ บทความข่าวปลอมที่ AI เขียนขึ้น สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและแนบเนียนกว่าที่เคย หากขาดการตรวจสอบ คุณเองก็อาจเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
  • Deepfake ที่สมจริงขึ้น เทคโนโลยีการปลอมแปลงใบหน้าและเสียงที่พัฒนาไปไกลจนน่ากลัว สามารถใช้ในการหลอกลวงทางการเงิน ทำลายชื่อเสียง หรือสร้างภาพอนาจาร เป็นภัยที่ควรเฝ้าระวังและตรวจสอบความถูกต้องให้ดีก่อนจะปักใจเชื่อ

คู่มือเอาตัวรอด เมื่อสิ่งที่เห็นไม่ใช่ความจริง

การเอาตัวรอดในยุคนี้ไม่ใช่การหวาดกลัวเทคโนโลยีแต่คือการอัปเกรด “ทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล” (Digital Literacy) ของเราเอง ทำได้ไม่ยาก

1. ฝึกเป็น ‘นักสืบดิจิทัล’ ก่อนเชื่อทุกอย่าง

ก่อนจะปักใจเชื่อภาพหรือข้อมูลใด ๆ ที่เห็น ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเสมอ

  • ใครคือต้นตอ ? หัดสังเกตว่า ข้อมูลนี้มาจากไหน, บัญชีผู้ใช้หรือเว็บไซต์น่าเชื่อถือหรือไม่ ลองนำหัวข้อหรือชื่อสถานที่ไปค้นหาใน Google ดูว่ามีสำนักข่าวหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือพูดถึงเรื่องนี้ไหม
  • เนื้อหาดูสมเหตุสมผลแค่ไหน ? โดยสังเกตจากความสมจริงของภาพ มิติของแสงเงา หรือลักษณะการกระทำ

2. จับโป๊ะด้วยสายตา สังเกตความผิดปกติในภาพ

แม้ AI จะเก่งขึ้น แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ให้เราจับผิดได้

  • ความผิดปกติของร่างกาย ลองซูมดูที่ มือ และ นิ้ว ซึ่งเป็นจุดที่ AI มักจะสร้างพลาดบ่อยที่สุด อาจมีจำนวนนิ้วที่ผิดปกติ หรือนิ้วบิดเบี้ยวผิดรูป
  • รายละเอียดที่ไม่สอดคล้องกัน มองหาความเบลอหรือความบิดเบี้ยวตามขอบของวัตถุ, พื้นผิวที่ดูเรียบเนียนหรือมันวาวเกินจริง, ตัวอักษรในภาพที่ดูอ่านไม่ออก หรือเงาและแสงที่ดูผิดเพี้ยน หรือมุมภาพที่ดูแปลกตา ปากที่ขยับไม่ตรงกับเสียง
  • ความสมมาตรที่สมบูรณ์เกินไป ใบหน้าที่สมมาตรกันเป๊ะ ๆ หรือวัตถุที่ดูสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ อาจเป็นสัญญาณของภาพที่ถูกสร้างขึ้น

3. ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ภาพ 

หากคุณรู้สึกเอ๊ะแล้วว่า นี่ภาพจริงหรือ AI คุณสามารถบันทึกภาพและนำไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือ เช่น Google Lens เพื่อค้นหาที่มาของภาพ หรือใช้เว็บไซต์ AI-generated image detectors ก่อนที่จะปักใจเชื่อ

ท้ายที่สุดแล้ว ในวันที่ AI สามารถสร้างสรรค์ทุกสิ่งขึ้นมาได้เพียงปลายนิ้ว ความหวาดกลัวอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การสร้าง ‘การตื่นรู้’ และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ต่างหากคือสิ่งจำเป็น

เพราะการเอาตัวรอดในยุคนี้อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถปรับตัวและตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นได้อย่างไร เพราะในโลกที่ความจริงถูกปลอมแปลงได้ง่ายดาย การใช้วิจารณญาณจึงเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดของเรา