“แบไต๋บุก” ออฟฟิศกลางกรุง ของบริษัท “คัดสรร ดีมาก” ผู้ผลิตฟอนต์ชั้นนำของประเทศ ที่ผู้คนในวงการออกแบบรู้จักกันดี และเราก็ต้องรู้จัก Font กันดีด้วย เพราะเราต้องเปลี่ยนฟอนต์หรือแบบอักษรกันมาตั้งแต่เรียนประถม อย่างน้อยก็ให้รายงานของเราสวยที่สุด

Font เรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เล็ก

คำว่าฟอนต์คือความเป็นความตายของการสื่อสาร มันเกิดเพราะหน้าที่สำคัญของแบบอักษรคือ การเป็นตัวกลางเชื่อมต่อคนให้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ เช่น เป็นตัวอักษรแสดงปุ่มต่าง ๆ ในมือถือให้ผู้ใช้เข้าใจและกดได้ หรือเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างคนกับคนด้วยกันเมื่อผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เช่นการแชต เราก็พิมพ์ตัวอักษรไปมาระหว่างกันให้สื่อถึงกัน

ถ้าวันหนึ่งฟอนต์เกิดไม่สมประกอบขึ้นมา เช่นอยู่ดี ๆ ระบบคอมพิวเตอร์อัปเดตพร้อมกันทั่วโลก แล้วเกิดผิดพลาดกับภาษาไทยจนฟอนต์ไทยกลายเป็นตัวสี่เหลี่ยมเต้าหู้กันไปหมด หรือเอาแค่แสดงวรรณยุกต์ผิดเพี๊ยนจากตำแหน่งที่ควรเป็น เราก็รู้สึกอยู่ไม่สุขกันแล้วใช่ไหมครับ และนี่คือเรื่องฟอนต์ เรื่องสำคัญมากๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรา แต่เรามักคิดไม่ถึงว่ามันสำคัญถึงขนาดนี้

จุดที่ซับซ้อนที่สุดของภาษาไทย

และภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการจัดตัวอักษรซับซ้อนมาก เช่นประโยคว่า “เล่าปี่บ่นถูกยุงกัดในป่า” มีตัวอักษรอยู่ 4 ระดับ คำว่า “ปี่” ก็มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ซ้อนกัน 3 ระดับแล้ว ส่วนคำว่า “ยุง” ก็มีสระจมอยู่ใต้พยัญชนะก็เป็นระดับที่ 4 เทียบกับภาษาอังกฤษที่มีตัวอักษรแค่ระดับเดียว ทำให้การแสดงผลนั้นตรงไปตรงมาไม่เหมือนกับเรา

แล้วที่พีคคือตำแหน่งของไม้เอกในประโยคนี้อยู่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย คำว่า “ปี่” ไม้เอกลอยไปบนสุด, “บ่น” ไม้เอกอยู่เหนือเส้นของ บ., “ป่า” ไม้เอกต้องขยับมาข้างหน้าไม่ให้ทับเส้นของ ป. เป็นต้น

จากความซับซ้อนของภาษาไทยนี้ ในวงการฟอนต์เขาจัดการกันยังไง มีเทคโนโลยีอะไรทำให้คอมพิวเตอร์รู้ว่าจะวางตำแหน่งตัวอักษรอย่างไรให้ถูกต้อง หรือถ้าคิดแบบผมซื่อ ๆ เลย คือทำอักษรจับคู่กันเก็บไว้เลย เอาไว้เรียกใช้ อันนี้ต้องลองดูในคลิปครับ เขาเล่าให้ฟังแบบละเอียด โดยมีคำตอบเกี่ยวกับเทคโนโลยีฟอนต์ การเขียนสคริปต์ฟอนต์จับคู่ในรหัส Unicode, เทคโนโลยี Mark2Mark เรียกได้ว่าน่าสนใจทีเดียว และยังมี Variable font ที่จะทำให้ชีวิตผู้ใช้ดีขึ้นได้อย่างมาก เพราะจะสามารถตรวจชนิดอุปกรณ์แล้วปรับน้ำหนักของฟอนต์ให้เองอัตโนมัติ

การพัฒนาด้านฟอนต์ของไทย

เรียกได้ว่าการพัฒนาฟอนต์ไทยนั้นตกอยู่ในการผลักดันจากเอกชนมานาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการมีฟอนต์ไทยในคอมพิวเตอร์เลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเราเป็นชาติเดียวในโลกที่ใช้ภาษาไทยนะครับ เราภูมิใจที่มีภาษาเป็นของตัวเอง แต่เรื่องฟอนต์ก็ควรมีการจัดการให้เป็นมาตรฐานด้วย

และนี่คือเรื่อง Font ที่หลายคนเคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ มาตลอด แต่แบบอักษรนั้นรวมองค์ความรู้หลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาของชาติ อารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ รวมถึงเรื่องเทคนิคมากมายที่ทำให้ฟอนต์ยังคงสื่อสารได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน ซึ่งฟอนต์ แม้จะเป็นรูปแบบอักษรเดิมๆ ก็ต้องวิวัฒนาการให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละยุค เมื่อก่อนเราก็ต้องทำฟอนต์เพื่อสิ่งพิมพ์ จนตอนนี้เราก็ต้องทำฟอนต์เพื่อหน้าจอที่ละเอียดมากขึ้น เหมาะสำหรับการอ่านบนจอมากขึ้นนั่นเอง