ผู้หญิงหลายคนประสบปัญหาอาการข้างเคียงก่อนมีประจำเดือน ในบางคนส่งผลทั้งต่อร่างกาย และต่อจิตใจ แม้ว่าอาการดังกล่าวจะมาในช่วงเป็นประจำเดือน แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นกระทบต่อการใช้ชีวิต และกระทบต่อความสัมพันธ์

PMS กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน

PMS (Premenstrual Syndrome) คือ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ สุขภาพร่างกาย พฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตกไข่ และช่วงเริ่มต้นของประจำเดือน สามารถเริ่มได้ทุกเมื่อหลังการตกไข่ แม้ว่าโดยปกติแล้วจะเริ่มในสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และคงอยู่จนถึง 5 วัน หรือมากกว่านั้นหลังจากเริ่มมีประจำเดือน ซึ่งอาการ PMS เป็นปัญหาที่พบบ่อยถึง 48% ของผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และประมาณ 20% มีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ซึ่งอาการของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกัน และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน โดยอาการของ PMS ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

  • อารมณ์เเปรปรวน
  • รู้สึกอารมณ์เสีย วิตกกังวล หรือหงุดหงิด
  • ความเหนื่อยล้าหรือมีปัญหาในการนอนหลับ
  • ท้องอืดหรือปวดท้อง
  • เจ็บที่บริเวณหน้าอก หรือหน้าอกขยายใหญ่ขึ้น
  • ปวดหัว
  • สิวขึ้น
  • ผมมันเยิ้ม
  • มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ
  • มีความต้องการทางเพศ
  • ตะคริว
  • ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • ปวดหลังและกล้ามเนื้อ
  • ความไวต่อแสงหรือเสียงผิดปกติ
  • น้ำหนักขึ้น ตัวบวม

PMS เกิดจากอะไร ?

อาการของ PMS สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยคุณอาจสังเกตพฤติกรรมของตนเองว่ามีส่วนสนันสนุนให้เกิดอาการนี้หรือไม่ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ PMS มีดังนี้ 

1.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นวัฏจักร

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า PMS เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนเหล่านี้จะมีความผันผวนตามธรรมชาติตลอดรอบเดือนของคุณ ในช่วงระยะลูเทียล (luteal) ซึ่งตามหลังการตกไข่ ฮอร์โมนจะถึงจุดสูงสุดและลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ความหงุดหงิด และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อื่น ๆ

2.การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง

สารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย รวมทั้งช่วยควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม สารเคมีเหล่านี้อาจส่งผลต่ออาการของ PMS เช่น การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจกระตุ้นการหลั่งนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งนำไปสู่การลดการผลิตโดปามีน อะเซทิลโคลีน และเซโรโทนิน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับ และนำไปสู่อารมณ์หดหู่ได้

3.ปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นอยู่

การใช้ชีวิตร่วมกับภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล อาจเพิ่มโอกาสที่คุณจะมีอาการ PMS หรือโรคอารมณ์ไม่ปกติก่อนมีประจำเดือน (PMDD) ซึ่งเป็นรูปแบบ PMS ที่รุนแรงกว่า

คนที่ครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับ PMS โรคไบโพลาร์ หรือภาวะซึมเศร้า รวมถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถเพิ่มความเสี่ยงนี้ได้เช่นกัน คุณอาจสังเกตเห็นว่าอาการจะกำเริบก่อนมีประจำเดือน ซึ่งหมายความว่าอาการของภาวะสุขภาพจิต เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคซึมเศร้า จะทวีความรุนแรงขึ้นก่อนที่ประจำเดือนของคุณจะเริ่มขึ้น

4.ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์

นิสัยบางอย่างอาจส่งผลต่อความรุนแรงของอาการ PMS ของคุณ ปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่อาจทำให้อาการ PMS แย่ลง ได้แก่

  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูงมาก ๆ
  • ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การนอนหลับที่ไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเชื่อมโยงการใช้แอลกอฮอล์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ PMS หากคุณดื่มหนักเป็นประจำ คุณอาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการ PMS มากขึ้น

วิธีรักษาอาการ PMS

อย่างที่บอกว่าอาการ PMS แม้จะกินเวลาไม่มาก แต่สำหรับบางคนที่อาการรุนแรงอาจเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกทรมานที่สุด ดังนั้นคุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอาการ PMS โดยมีวิธีดังนี้

  • ออกกำลังกายทุกวัน
  • ลดปริมาณการดื่มคาเฟอีน
  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • ฝึกการรับมือกับความเครียด

นอกจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคุณแล้ว แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติม ดังนี้

  • ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด
  • การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา หรือการบำบัดด้วยการพูดคุย
  • ยากล่อมประสาท
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการที่รุนแรงกว่า PMS ที่เรียกว่า PMDD ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

โรคอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน (PMDD)

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยอาจมีอาการ PMS ที่รุนแรงกว่าที่เรียกว่าโรคอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน หรือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) โดยอาการของ PMDD จะคล้ายกับ PMS แต่รุนแรงกว่ามาก และอาจส่งผลเสียต่อกิจกรรมประจำวัน และคุณภาพชีวิตของคุณมากกว่า โดยอาการมี ดังนี้

  • อาการทางร่างกาย เช่น เป็นตะคริว ปวดศีรษะ ปวดข้อและกล้ามเนื้อ
  • อาการทางพฤติกรรม เช่น การกินมากเกินไป และปัญหาการนอนหลับ
  • อาการทางจิตและอารมณ์ เช่น วิตกกังวลมาก โกรธ ซึมเศร้า หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

สาเหตุของ PMDD มีความเชื่อมโยงกับความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมบางอย่างที่คุณสามารถสืบทอดมาจากพ่อแม่ของคุณ

หากอาการ PMS และ PMDD ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน และคุณภาพชีวิตของคุณทุกเดือน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกินยาที่ขายทั่วไปแทบไม่มีส่วนช่วยอะไร คุณควรปรึกษาแพทย์หาแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เพื่อให้ตนเองได้ใช้ชีวิตอย่างปกติโดยไม่มีอาการเหล่านี้รบกวนในทุกเดือน 

ที่มา nhs.uk , healthline , mayoclinic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส