มนุษย์เมนส์เป็นคำที่คนใช้เรียกผู้หญิงที่มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เศร้า อารมณ์อ่อนไหว บางคนถึงขั้นร้องไห้เมื่อไม่ได้กินของที่อยากกิน รวมถึงอาการปวดท้องประจำเดือนด้วย อาการมนุษย์เมนส์มักจะกำเริบเมื่อประจำเดือนมาหรือกำลังจะมา ซึ่งเป็นผลจาก Premenstrual Syndrome จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในรอบเดือนเพื่อการตกไข่ที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์

ในระหว่างที่คนมากมายมองว่าผู้หญิงที่จะเป็นเมนส์มักขี้หงุดหงิด เอาใจยาก ไม่แน่ไม่นอน แต่ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนเลยคือ ผู้ชายก็เป็นเมนส์ได้ แม้จะไม่มีการตกไข่และเลือดประจำเดือนก็ตาม หากคุณเป็นผู้ชายที่กำลังอ่านบทความนี้อาจไม่แน่ว่าการที่คุณเคยเผชิญกับ Male Period หรือ Irritable Male Syndrome (IMS) ก็เป็นได้

ทฤษฎีผู้ชายเป็นเมนส์มาจากไหน?

ทฤษฎีเรื่องที่ว่าผู้ชายมีเมนส์มีมานานแล้ว ในระยะเริ่มแรกมาจาก ดร.เจด ไดมอนด์ ที่เป็นนักบำบัดจิต ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพผู้ชายออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้น คือ The Irritable Male Syndrome (แปลเป็นไทยแบบไม่เป็นทางการว่า คือ กลุ่มอาการอ่อนไหวในผู้ชาย) ที่พูดเรื่องการทำความเข้าใจและวิธีจัดการกับภาวะอารมณ์ของผู้ชาย ส่วนหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็มีทั้งเรื่องจิตบำบัดและเรื่องฮอร์โมนของผู้ชายด้วยเช่นเดียวกันอย่าง Surviving Male Menopause หนังสือที่พูดถึงภาวะวัยทองของผู้ชาย

โดยดร.ท่านนี้เชื่อว่าผู้ชายมีวงจรของระดับฮอร์โมนเพศชายที่มีการสวิงหรือแปรปรวนเช่นเดียวกับผู้หญิง เพียงแค่ไม่มีเลือดประจำเดือนและมักไม่ค่อยแสดงอาการออกมา

ฮอร์โมนเพศของผู้ชายคือเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ปกติแล้วระดับเทสโทสเตอโรนจะมีวงจรในช่วง 24 ชั่วโมง โดยจะพุ่งสูงในช่วงเช้าและลดลงในช่วงกลางคืน ซึ่งต่างจากผู้หญิงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงเป็นรอบเดือน

นอกจากนี้ บางทฤษฎียังบอกว่าฮอร์โมนผู้ชายอาจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลด้วย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ในทางการแพทย์

อาการผู้ชายเป็นเมนส์เป็นแบบไหน?

เทสโทสเตอโรนส่งผลต่อผู้ชายในหลายด้าน เช่น การสร้างกล้ามเนื้อ ขนตามร่างกาย กลิ่นตัว พละกำลัง สุขภาพจิต และแน่นอนว่ารวมถึงเรื่องอารมณ์ทางเพศด้วย เมื่อเทสโทสเตอโรนแปรปรวน ผู้ชายบางคนอาจต้องเผชิญกับอาการต่อไปนี้

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น สับสน
  • อารมณ์แปรปรวน เครียด หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว อยู่ไม่สุข
  • ความมั่นใจลดลง
  • อารมณ์ทางเพศลดลง

ข้อมูลบางส่วนยังบอกด้วยว่าผู้ชายบางคนอาจรู้สึกอยากอาหารและปวดเกร็งที่ท้อง ซึ่งคล้ายกับอาการปวดท้องเมนส์ในผู้หญิง แต่อย่างที่บอกไปว่าในปัจจุบันไม่ได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มายืนยันเรื่องนี้ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ชายแล้วเจอกับอาการที่เข้าข่าย Male Period การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เฮลตี้มากขึ้น อย่างออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หาอะไรทำแก้เครียดอาจช่วยได้

ที่มา: Healthline1, Healthline2, LT Men’s Clinic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส