ปัจจุบันมีหลากหลายอาชีพที่มีความจำเป็นต้องทำงานเป็นกะ (Shift Work) ทั้งทำงานเปลี่ยนช่วงเวลาไปเรื่อย ๆ หรือต้องทำงานตอนกลางคืนถาวร เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักดับเพลิง พยาบาล แพทย์ นักบิน พนักงานเสิร์ฟ คนขับรถบรรทุก และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ อีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าการทำงานกะกลางคืนถือเป็นอุปสรรคต่อความตื่นตัวและประสิทธิภาพของร่างกายหลายด้าน ดังนั้น ผู้ที่กำลังทำงานในช่วงเวลาเช่นนี้จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองมากเป็นพิเศษ

ผลกระทบด้านสุขภาพในระยะสั้นของคนทำงานเป็นกะ

การทำงานเป็นกะ หรือการต้องทำงานในตอนกลางคืนทั้งที่เป็นเวลาที่คนทั่วไปนอน และต้องมานอนหลับในตอนเช้าขณะที่คนหมู่มากออกไปทำงาน สามารถส่งผลเสียให้คุณหลายด้าน ยิ่งคนที่ทำงานเป็นกะติดต่อกันหลายปี แน่นอนว่าประสิทธิภาพของร่างกายคุณก็อาจลดลงได้เช่นกัน โดยผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก และแสบร้อนกลางอก เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ คุณภาพชีวิตลดลง รู้สึกไม่สบาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ ผลกระทบด้านการนอนหลับ เนื่องจากการนอนในตอนกลางวัน คุณอาจจะต้องเจอกับแสงสว่าง และเสียงรบกวนที่สามารถรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนหลับได้อย่างยากลำบากมากขึ้น

โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานกะกลางคืนจะได้นอนน้อยลง 2-4 ชั่วโมง ซึ่งจะถูกขัดจังหวะก่อนเวลาอันควร กลายเป็นพักผ่อนน้อย มีโอกาสที่จะประสบปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอระหว่างการทำงานกะกลางคืนในภายหลัง ทำให้มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดและอุบัติเหตุมากขึ้น 

ผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวของคนทำงานเป็นกะ

นักวิจัยได้พบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างพนักงานที่ทำงานเป็นกะ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของสภาวะสุขภาพและโรคร้ายแรง ดังนี้

1.โรคหัวใจและหลอดเลือด

นักวิจัยได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานเป็นกะกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการทำงานเป็นกะดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 40% โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อคนทำงานกลางคืนนานขึ้น นอกจากนี้ การวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งพบความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 5% ทุก ๆ 5 ปี ที่มีคนทำงานเป็นกะ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่คนคนหนึ่งทำงานเป็นกะเป็นเวลา 15 ปี 

2.โรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกซินโดรม

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการทำงานเป็นกะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าคนทำงานกะ โดยเฉพาะคนที่ทำงานเป็นกะ 16 ชั่วโมง มีอัตราการเกิดโรคเบาหวานสูงกว่าคนทำงานกลางวันถึง 50%

การทำงานเป็นกะยังเชื่อมโยงกับกลุ่มอาการเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพร่วมกัน เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วน และระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยเสี่ยงร้ายแรงสำหรับโรคเบาหวาน หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง

3.โรคอ้วน 

โรคอ้วนมีสาเหตุหลายประการ สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างความอ้วนกับการทำงานเป็นกะนั้น อาจมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดี และขาดการออกกำลังกายที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ และความสมดุลของฮอร์โมนดูเหมือนจะมีความสำคัญเช่นกัน เพราะฮอร์โมนเลปตินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความอยากอาหาร ช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่ม โดยการทำงานเป็นกะอาจลดระดับฮอร์โมนเลปตินลง จึงอาจเป็นไปได้ว่าคนทำงานกลางคืนจะรู้สึกหิวมากกว่าคนทำงานกลางวัน

4.โรคซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน 

การศึกษาบางชิ้นพบว่าพนักงานที่ทำงานเป็นกะ มีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ นอกจากนี้ ความโดดเดี่ยวทางสังคมจากการทำงานเป็นกะย่อมส่งผลทางจิตใจอย่างแน่นอน โดยการทำงานเป็นกะอาจส่งผลต่อเคมีในสมองโดยตรง มีการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2550 พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานกลางวัน พบว่าคนทำงานกลางคืนมีระดับเซโรโทนินต่ำกว่ามาก ซึ่งเซโรโทนินเป็นสารเคมีในสมองที่มีบทบาทสำคัญต่ออารมณ์

5.ปัญหาระบบทางเดินอาหารร้ายแรง 

เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่นักวิจัยสังเกตว่าการทำงานเป็นกะดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงของอาการทางเดินอาหารทั่วไป เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย และท้องผูก นอกจากนี้ อาจเป็นโรคลำไส้บางประเภท เช่น อาการลำไส้แปรปรวน โดยการศึกษาหนึ่งในปี 2551 พบหลักฐานที่เชื่อมโยงการทำงานกะกับอาการเสียดท้องเรื้อรังหรือโรคกรดไหลย้อนด้วย

6.ปัญหาเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์ 

การวิจัยพบว่าการทำงานเป็นกะอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งศึกษาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินซึ่งมักทำงานเป็นกะ ผลการวิจัยพบว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทำงานระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตรสูงกว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ไม่ได้ทำงานถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การทำงานเป็นกะอาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักต่ำ รวมถึงอาจมีปัญหาการเจริญพันธุ์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น

7.โรคมะเร็ง

จากการศึกษาทั้งในมนุษย์และสัตว์ พบว่าการทำงานเป็นกะนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคมะเร็ง ในปี 2550 คณะอนุกรรมการขององค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึงการทำงานเป็นกะว่า “อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง” โดยการวิเคราะห์ข้อมูล 2 รายการจากการศึกษาที่แตกต่างกันพบว่าการทำงานกลางคืนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึง 50% และการทำงานเป็นกะบนเครื่องบิน เช่น นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพิ่มความเสี่ยง 70% โดยมีหลักฐานว่าการทำงานเป็นกะอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น

จำเป็นต้องทำงานเป็นกะ ดูแลตัวเองอย่างไรดี ?

หากท้ายที่สุดคุณมีความจำเป็นต้องทำงานกะกลางคืน คุณควรรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากความเสี่ยงหลายอย่างของการทำงานเป็นกะเชื่อมโยงกับโรคอ้วน และเมตาบอลิกซินโดรม ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่ดี และการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ลงได้

อีกทั้ง การอดนอนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และจากการศึกษาพบว่าคนทำงานเป็นกะนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคนทำงานกลางวัน ส่วนหนึ่งของปัญหาคือการได้รับแสงเพียงช่วงสั้น ๆ ในระหว่างวัน ร่างกายจึงตื่นตามธรรมชาติ ทำให้นอนหลับยาก ดังนั้นคุณอาจจะต้องจัดห้องนอนของตนเองให้เป็นพื้นที่ที่แสงแดดเข้าถึงได้น้อย 

นอกจากนี้ คุณอาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับยาที่ช่วยให้คุณตื่นตัวระหว่างการทำงานตอนกลางคืน หรือเพื่อช่วยให้คุณนอนหลับเมื่อคุณเข้านอนตอนเช้า ป้องกันการนอนหลับไม่เพียงพอ และหากคุณกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำงานเป็นกะ แพทย์จะช่วยติดตามสุขภาพของคุณอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ที่มา news-medical , webmd , clevelandclinic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส