ใครจะไปรู้ว่าพฤติกรรมง่าย ๆ อย่างการกินอาหารที่เร็วเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงของน้ำหนักตัวที่มากขึ้นและโรคอ้วนได้ โดยนอกจากโรคอ้วนแล้ว คุณยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย Hack for Health จะมาบอกเล่าถึงสาเหตุว่าทำไมการกินอาหารเร็วเกินไปจึงส่งผลเสียและวิธีไหนที่จะช่วยให้คุณกินอาหารได้สุขภาพดีมากขึ้น

ทำไมการกินข้าวเร็วเกินไปถึงส่งผลเสีย?

โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราเริ่มกินอาหารและอาหารถูกลำเลียงไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้ สมองเราอาจใช้เวลาราว 20–30 นาทีเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายของเรารู้สึกอิ่ม ซึ่งการกินเร็วมากเกินไปจึงอาจทำให้คุณอาหารในปริมาณที่มากกว่าเดิม เพราะยังไม่รู้สึกอิ่ม จนทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็น เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำหนักขึ้นและพัฒนาไปเป็นโรคอ้วนได้

ข้อมูลที่รวบรวมจากคนญี่ปุ่นกว่า 3,000 คนพบว่ากลุ่มคนที่กินอาหารเร็วและกินจนกว่าจะรู้สึกอิ่มเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกิน (Overweight) กว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนกลุ่มที่กินช้ากว่า

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นที่ได้ติดตามพฤติกรรมการกินของคนจำนวน 1,083 คนเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยผลลัพธ์พบว่าคนที่กินอาหารเร็วมีความเสี่ยงของโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และภาวะไขมันเลือดสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ได้ราว 11.6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่กินอาหารด้วยความเร็วปกติและช้า

นอกจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นแล้ว การกินอาหารเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้ด้วย

ปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร

คนที่กินอาหารเร็วมักจะกินอาหารคำใหญ่กว่าคนทั่วไปและเคี้ยวอาหารน้อยกว่า ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มภาระให้กับระบบทางเดินอาหาร เพราะต้องหลั่งน้ำย่อยและใช้เวลาในการย่อยอาหารมากกว่าปกติ อาจทำให้ท้องอืด แน่นท้อง และรู้สึกไม่สบายตัวได้

โรคกรดไหลย้อน

การกินอาหารปริมาณมาก โดยเฉพาะมื้อเย็นสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนได้ ซึ่งโรคกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว เจ็บคอ ร่วมกับอาการท้องอืด แน่นท้อง และอาหารไม่ย่อย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างมาก

กลุ่มอาการอ้วนลงพุง

กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณมีน้ำหนักตัวมาก และมีค่าไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในระดับที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ โดยคนที่มีกลุ่มอาการนี้จะมีระบบเผาผลาญที่ผิดปกติจนทำให้ไขมันสะสมในร่างกายได้มาก สังเกตได้จากความรอบเอวที่มากกว่าคนทั่วไป

กินอาหารอย่างไรไม่ให้เสี่ยงโรคอ้วน?

การปรับพฤติกรรมการกินเป็นส่วนสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับการกินด้วย ซึ่งวิธีต่อไปนี้อาจช่วยคุณได้

  • จับเวลาในการกิน กินให้ช้าลง คำเล็กลง การกิน 1 มื้อไม่ควรต่ำกว่า 20 นาที
  • เคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพราะการเคี้ยวจะช่วยลดขนาดของอาหาร ทั้งยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลายที่มีเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยโมเลกุลของอาหาร ช่วยลดภาระให้กับระบบทางเดินอาหาร
  • จิบน้ำตลอดมื้ออาหารเพื่อช่วยคั่นพฤติกรรมการกินเร็ว ช่วยในเรื่องการย่อยอาหารและความอิ่ม
  • วางช้อนทุกครั้งหลังกิน 1 คำเพื่อลดความต่อเนื่องและความเร็วในการกิน
  • อย่าปล่อยให้ตัวเองหิวมาก เพราะอาจทำให้กินมากกว่าปกติ
  • เลี่ยงการเล่นมือถือหรือดูทีวี เพราะจะทำให้คุณโฟกัสกับการเคี้ยวอาหารและรสชาติน้อยลง คุณเลยต้องกินมากขึ้นเพื่อชดเชยรสชาติ

นอกจากพฤติกรรมการกินเหล่านี้แล้ว คุณควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ด้วย และจำกัดอาหารพลังงานสูง อย่างไขมัน แป้ง และน้ำตาล เพราะหากกินมากเกินไปก็ทำให้คุณอ้วนได้ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถกินอาหารได้อย่างสบายใจและสุขภาพดีมากขึ้น แถมเสี่ยงโรคอ้วนน้อยลงด้วย

ที่มา: The Guardian, Healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส