ความจำเสื่อม (Memory loss) เป็นอาการทางสมองที่พบได้ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ผู้ป่วยจะหลงลืมสิ่งต่าง ๆ เช่น ลืมว่าตัวเองเป็นใคร ลืมคนในครอบครัว ลืมว่าจะทำอะไร ลืมว่าจะไปที่ไหน หรือลืมหนทางที่จะกลับบ้าน

อาการความจำเสื่อมพบได้ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคนและความรุนแรงของโรค ซึ่งอาการหลงลืมสามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยหายตัวออกไปจากบ้าน สร้างความเป็นห่วงและความกังวลใจให้กับครอบครัว

ตัวผู้ป่วยเองก็อาจเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุได้ และเนื่องจากผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำทำให้กลับบ้านเองไม่ได้และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหลงออกไปโดยไม่ได้มีข้อมูลติดตัวทำให้คนที่พบเห็นให้ความช่วยเหลือได้อย่างยากลำบาก

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและเพิ่มโอกาสในการพาผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย หนึ่งในนั้น คือ QR Code โดยบทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับ QR Code ที่จะพาผู้ป่วยความจำเสื่อม ซึ่งอาจเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นคนรัก หรือคนสำคัญของใครสักคนกลับสู่อ้อมกอดของคนในครอบครัวของเขากัน

QR Code ทางกลับบ้านของผู้ป่วยความจำเสื่อม

แนวคิดการแก้ปัญหาผู้ป่วยความจำเสื่อมหายออกจากบ้านด้วย QR Code มีการพัฒนามาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องติดตามในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ ริสต์แบนด์ หรือการนำ QR Code ไปติดตามเสื้อผ้า ทั้งเสื้อ กางเกง หรือรองเท้า ซึ่งใน QR Code จะมีข้อมูลของผู้ป่วย เบอร์โทรติดต่อ และที่อยู่ หากมีคนพบเห็นก็เพียงสแกน QR Code หรือแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อพาผู้ป่วยกลับไปหาครอบครัวได้

แต่อีกหนึ่งปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคนี้อาจ ‘ลืม’ หรือไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวมใส่สิ่งเหล่านี้เลยไม่ได้สวมออกไป คนที่พบเห็นจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างง่ายดายนัก หลายคนอาจสงสัยว่าความจำเสื่อมถึงขนาดลืมใส่เสื้อหรือรองเท้าเลยหรือ ต้องบอกไว้ว่าผู้ป่วยความจำเสื่อมจำนวนไม่น้อยมีสาเหตุมาจากส่วน Cognitive function ของสมองเสื่อมลง ซึ่งที่ครอบคลุมถึงเหตุผลกระบวนการคิดและสัญชาติญาณ ผู้ป่วยจึงอาจลืมแม้แต่สิ่งสามัญในการดำรงชีวิตอย่างการสวมเสื้อผ้าไปด้วย

บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นผุดไอเดียโดยเปลี่ยนรูปแบบจาก QR Code ที่แปะตามเสื้อผ้ามาเป็นสติกเกอร์กันน้ำที่ติดแน่นและมีขนาดเพียง 1*1 เซนติเมตรติดไว้ที่เล็บมือหรือเล็บเท้าของผู้ป่วย โดยจะอยู่ได้ 2 สัปดาห์ ช่วยลดปัญหาผู้ป่วยลืมสวมอุปกรณ์ติดตามหรือเสื้อผ้าที่ติด QR Code ไว้ได้ คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลเพียงคอยเปลี่ยนทุก 2 สัปดาห์และคอยดูว่าภาพ QR Code ยังคงสมบูรณ์และใช้งานได้ พอเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยหายตัวไปก็จะช่วยให้คนที่พบเห็นสามารถพาผู้ป่วยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

QR Code เพื่อผู้ป่วยความจำเสื่อมที่ไม่ได้ดีแค่สำหรับผู้ป่วย

หากลองจินตนาการว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเราเกิดมีอาการความจำเสื่อมขึ้นมา ลูกหลานอาจต้องคอยระแวดระวังอยู่ตลอด ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน การใช้ชีวิต และสุขภาพจิต หรือหากผู้ป่วยในครอบครัวหายไปก็ย่อมรู้สึกเป็นร้อนใจ เป็นห่วง และทุกข์ใจได้ไม่น้อย

การใช้สติกเกอร์ QR Code ที่เป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ แต่กลับให้ประโยชน์มหาศาลในการติดตามผู้ป่วยความจำเสื่อม ช่วยให้คนลูกหลานหรือคนที่ดูแลมีความคล่องตัวมากขึ้น ลดความกังวลเมื่อผู้ป่วยหายตัวออกไปจากบ้าน และคนที่พบเจอก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ แต่การสอดส่องดูแลผู้ป่วยโรคนี้อย่างใกล้ชิดยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

QR Code เพื่อผู้ป่วยความจำเสื่อมอาจเป็นทางเลือกของสังคมไทยในไม่ช้า

ต้นแบบของสติกเกอร์ QR Code เพื่อพาผู้ป่วยความจำเสื่อมกลับบ้านมาจากญี่ปุ่นที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยเองก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยเป็นมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

จากข้อมูลปัจจุบัน คนไทยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อม 5 คนจาก 100 คน และเมื่ออายุ 80 ปีจะเพิ่มเป็น 20 คนต่อ 100 คน ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเรา การเตรียมตัวหลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์จึงจำเป็นอย่างมากและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยได้ไม่น้อย

QR Code เป็นเทคโนโลยีพื้นที่ฐานที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ขอเพียงแค่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งการนำมาปรับใช้อย่างชาญฉลาดสามารถสร้างประโยชน์และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยความจำเสื่อมและครอบครัวได้อย่างมหาศาล สุดท้ายนี้ อาการความจำเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้และหากผู้สูงอายุภายในบ้านมีอาการเกี่ยวกับความจำ การสื่อสาร หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนสังเกตได้ ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างเหมาะสม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส