การใช้ Standing Desk โต๊ะทำงานแบบยืนเป็นเทรนด์สุขภาพที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลายปีมานี้ เหตุผลก็เพราะว่ามีการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการยืนทำงานออฟฟิศ ไม่ว่าจะประชุม พิมพ์งาน หรือแม้แต่การยืนเล่นเกมอาจดีต่อร่างกายมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานาน

ส่วน Standing Desk จะดีกว่าโต๊ะและเก้าอี้ทำงานแบบเดิมอย่างไร แล้ว Standing Desk ดีจริงหรือเป็นแค่เทรนด์ บทความนี้มีคำตอบ

ประโยชน์ของ Standing Desk

ข้อมูลจำนวนไม่น้อยพบว่าการใช้ Standing Desk ในการทำงานส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน

ลดอาการออฟฟิศซินโดรม

ปวดหลังและปวดคอเป็นอาการออฟฟิศซินโดรมที่พบได้ค่อนข้างบ่อย สาเหตุเกิดจากการที่เรานั่งในท่าทางที่ผิดหรือวางตำแหน่งอุปกรณ์ไม่เหมาะสมจะทำให้เอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นประสาททำงานมากกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมตามมาได้

ซึ่งการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นขา สะโพก และหลังส่วนล่างหดเกร็ง ทำงานหนัก และเกิดอาการปวด แน่นอนว่าเมื่อคุณยืนทำงานการกดทับของกล้ามเนื้อจากการนั่งเป็นเวลานานก็จะไม่เกิดขึ้นจึงทำให้คุณเสี่ยงต่ออาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมน้อยลง

ได้เคลื่อนไหวมากกว่า

การยืนทำงานเผาผลาญราว 88 Kcal/ชั่วโมง ส่วนการนั่งทำงานเผาผลาญพลังงานอยู่ที่ 80 Kcal/ชั่วโมง แม้ในเชิงตัวเลขจะเผาผลาญพลังงานต่างกันนิดเดียว แต่การยืนทำงานเอื้อให้คุณเคลื่อนไหวได้มากกว่า เช่น คุณอาจเดินไปหยิบของ เดินไปเข้าห้องน้ำ ต่างจากการนั่งทำงานที่ก้นของคุณมักติดอยู่กับเก้าอี้จนไม่ค่อยได้ลุกไปไหน

การยืนทำงานจึงอาจทำให้คุณได้เคลื่อนไหวมากกว่า เผาผลาญมากกว่า ช่วยให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายมากกว่า ลดอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน และเลือดไหลเวียนได้ดีมากกว่าการนั่ง

อาจลดความเสี่ยงของโรคได้มากกว่าการนั่ง

คุณอาจสงสัยว่าแค่เปลี่ยนการนั่งเป็นการยืนถึงขั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้เลยหรอ คำตอบคือ ได้! เพราะการนั่งจะทำให้กล้ามเนื้อและหลอดเลือดที่สะโพกและต้นขาถูกกดทับ ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น นานวันเข้าอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้น้อยลง เสี่ยงต่อโรคหัวใจได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าการยืนทำงานช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการมื้ออาหารกลับมาอยู่ในระดับปกติได้เร็วเมื่อเทียบกับการนั่ง ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดที่พุ่งสูงเป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ การยืนทำงานจึงเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้น้อยกว่าการนั่ง ทั้งนี้ โรคที่ได้พูดถึงไปสามารถเกิดจากปัจจัยอื่นได้ด้วย

เรื่องควรรู้ก่อนใช้ Standing Desk

Standing Desk ไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อจำกัดและอีกหลายเรื่องที่คุณควรรู้และทำความเข้าใจก่อนซื้อมาใช้

1. Standing Desk อาจทำให้เกิดอาการปวดได้เหมือนกัน

การยืนทำงานเป็นเวลานานสามารถทำให้เกิดอาการปวดขา ปวดเท้า หรือปวดเข่าได้ ยิ่งคนที่เพิ่งเปลี่ยนจากการทำงานแบบนั่งเก้าอี้มาเป็นแบบยืน คนที่น้ำหนักตัวมาก การยืนที่ผิดท่าทาง อย่างการทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งอาจทำให้เกิดการกดทับที่ขาหรือที่เท้ามากเกินไป การยืนติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไปก็ส่งผลเสียได้

นอกจากนี้ การยืนทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมยังอาจทำให้ปวดหลังได้ด้วย หากอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะดูย้อนแย้งกับประโยชน์ของ Standing Desk ที่ช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ประเด็นหลักคือท่าทางในการยืนและนั่งที่ถูกต้อง รวมถึงระยะเวลาพักในระหว่างการทำงานด้วย หากท่าถูกต้อง พักตามระยะเวลาที่เหมาะสมก็ไม่มีปัญหาอะไร

นอกจากนี้ ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าคนที่ใช้เวลาไปกับการยืนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการรักษาอาการเส้นเลือดขอดที่ขาได้มากกว่า

2. ท่าทางการยืนสำคัญมาก

การยืนทำงานด้วย Standing Desk จำเป็นต้องยืนให้ถูกต้อง อย่างยืนให้ศีรษะ คอ และหลังตรงเป็นแนวเดียวกัน ไม่แอ่นหรือค่อม วางหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ไม่ต้องก้มหรือเงย ส่วนเมาส์และคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับที่ข้อศอกของคุณตั้งฉากเป็นมุม 90 องศาเมื่อใช้งาน 

3. ค่อย ๆ เริ่มในช่วงแรก

การเปลี่ยนจากการนั่งทำงานมายืนทำงานทั้งวันแทนอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ ในช่วงแรก ควรเริ่มจากการยืนทำงานในท่าทางที่ถูกต้อง โดยใช้เวลา 30 นาทีต่อครั้ง หลายครั้งต่อวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลา แต่สูงสุดไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน คุณสามารถสลับระหว่างการนั่งทำงานและการยืนทำงาน แต่ข้อนี้อาจเหมาะกับคนที่ Work from Home มากกว่า

4. คุณอาจจะต้องใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม

เพื่อลดแรงกดบริเวณเท้าจากการยืนนาน ๆ คุณอาจจำเป็นต้องสวมรองเท้าที่ช่วยลดดูดซับน้ำหนักตัวเพื่อลดการกดทับของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อบริเวณเท้า หรือจะซื้อเป็นพรมหรือแผ่นรองเท้าสำหรับ Standing Desk ก็ได้เหมือนกัน

Standing Desk โต๊ะยืนทำงาน ดีจริงหรือแค่เทรนด์?

หากดูจากข้อมูลโดยรวมแล้วอาจจะพูดไม่ได้เสียทีเดียวว่า Standing Desk ดีต่อสุขภาพมากกว่าการนั่งทำงานแบบเดิม เพราะการยืนทำงานก็ดูมีข้อจำกัดไม่น้อย อาจเหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้เวลาทำงานนาน ๆ มากกว่า หรืออาจจะต้องสลับระหว่างการนั่งและยืนทำงาน ซึ่งดูค่อนข้างยุ่งยาก แต่คุณสามารถเลือกโต๊ะที่ปรับระดับความสูงมาใช้ก็ได้เหมือนกัน

สำหรับใครที่อยากลองใช้ Standing Desk ทำงาน แต่ไม่อยากลงทุน สามารถนำโต๊ะพับตัวเล็กมาวางบนโต๊ะทำงานเดิมเพื่อเสริมระดับให้สูงขึ้นได้ หรือจะซื้อชั้นเสริมระดับเพื่อการยืนทำงานโดยเฉพาะเพื่อที่จะไม่ต้องซื้อโต๊ะใหม่ อย่างไรก้ตาม อย่าลืมว่าระดับของเม้าส์และคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย

สุดท้ายนี้ สิ่งที่น่าจะเวิร์กที่สุดคือการปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนทำงาน รวมถึงคุณควรลุกหรือเดินยืดเส้นยืดสายทุก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงด้วย สำหรับเรื่องปัญหาสุขภาพจากการนั่งทำงาน Hack for Health แนะนำให้คุณดูแลสุขภาพในด้านอื่นร่วมด้วย อย่างการคุมอาหารและการออกกำลังกาย

อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง

ภาพปก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส