ไมโครพลาสติก (Microplastic) และนาโนพลาสติก (Nanoplastic) เป็นปัญหาที่ลุกลามไปทั่วทั้งโลก และไม่ได้เป็นแค่หายนะทางสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป เพราะหลายปีที่ผ่านมาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลาสติกขนาดจิ๋วเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ในน้ำ ในสัตว์ และในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งทุกเฮือกของการหายใจของเรา เราก็กำลังสูดเอาไมโครและนาโนพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นค้นพบว่า ทุกครั้งที่มนุษย์หายใจเข้า จะนำเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเข้าสู่ปอด ซึ่งการหายใจเป็นช่องทางที่มนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากการได้รับผ่านการใช้ของใช้ อย่างเครื่องสำอาง และยาสีฟัน

โดยการศึกษาชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology Sydney) ที่นำโดย ดร. สุวัช สห (Saha Suvash) อาจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งได้ศึกษากลไกและความสัมพันธ์ของไมโครพลาสติกกับการหายใจของมนุษย์มากขึ้น

ไฮไลต์ของการศึกษานี้คือ จังหวะในการหายใจนำไมโครพลาสติกต่างชนิด และต่างขนาดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแต่ละชนิดจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยการศึกษาเรื่องนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาวิธีลดและป้องกันผลกระทบจากการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

ข้อมูลจากการศึกษาชิ้นนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการได้รับไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อโรคและอาการในระบบทางเดินหายใจบางชนิดมากขึ้น อย่างอาการหายใจลำบาก โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าการหายใจด้วยจังหวะที่เร็วหรือถี่ (Fast breathing) ไมโครพลาสติกจะไปสะสมที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างโพรงจมูก คอ ช่องปาก และกล่องเสียง โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ ในขณะที่การหายใจที่ช้าจะทำให้นาโนพลาสติกที่มีขนาดเล็กไปสะสมและฝังอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง อย่างหลอดลมและปอด

นอกจากนี้ ยังพบลักษณะของไมโครพลาสติกที่แตกต่างกัน โดยจะมีในกลุ่มของไมโครพลาสติกที่ไม่ใช่ทรงกลม (Non-Spherical Microplastic Particles) ที่จะเจาะและฝังลึกในปอดได้มากกว่ากลุ่มไมโครพลาสติกทรงกลม (Spherical Microplastic Particles) ซึ่งไมโครพลาสติกทั้งสองกลุ่มอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไป 

โดยแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกที่มนุษย์ได้รับผ่านการหายใจแบ่งได้เป็นภายในและภายนอกอาคาร จากข้อมูลพบว่า ‘ใยสังเคราะห์’ ไม่ว่าจะจากเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หรือของตกแต่ง เป็นแหล่งที่มาหลักของไมโครพลาสติกภายในอาคาร และสำหรับภายนอกอาคาร ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในอากาศนั้นมาจากหลายแหล่ง ตั้งแต่ขยะในมหาสมุทร ไปจนถึงเศษพลาสติกจากการบำบัดน้ำเสีย

ตอนนี้เราสามารถพูดได้ว่าโลกใบนี้กำลังตกอยู่ภายใต้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเข้าสู่ช่วงแสดงผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยลำพังไมโครพลาสติกเองได้แพร่กระจายอยู่ในทุกที่ชนิดที่ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เคยมีงานวิจัยที่พบว่ามนุษย์เราได้รับไมโครพลาสติกเฉลี่ย 5 กรัม/สัปดาห์เลยทีเดียว ดังนั้น การใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีต่าง ๆ อาจพอช่วยให้เราชะลอหายนะด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพออกไปได้อีกหน่อย