ไมโครพลาสติก (Microplastic) และนาโนพลาสติก (Nanoplastic) ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ พลาสติกทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ไม่ได้ถูกทำลายและสลายไป

แต่ถูกทำให้มีขนาดเล็กลงด้วยวิธีการต่าง ๆ จนสามารถปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในแบบที่วิทยาการมนุษย์ในปัจจุบันไม่สามารถหยุดยั้งได้ โดยพลาสติกขนาดจิ๋วนี้อยู่ในทุกที่ ในดิน ในน้ำ ในอากาศที่เราหายใจ ในอาหารที่เรากิน หรือแม้แต่น้ำในขวดที่เราเชื่อว่าสะอาด

การศึกษาพบว่ามนุษย์เราได้รับไมโครพลาสติกเฉลี่ย 5 กรัม/สัปดาห์จากอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งชวนให้หลายคนรู้สึกกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะภาพจำเกี่ยวกับพลาสติกของคนส่วนใหญ่คือสารเคมีหรือสิ่งของที่ใช้ภายนอก หากสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายก็อาจเป็นอันตรายได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? บทความนี้ Hack for Health จะมาแฮกเรื่องนี้กัน!

ไมโครพลาสติก < 5 มิลลิเมตร

นาโนพลาสติก = 1–1000 นาโนเมตร

PM2.5 < 2.5 ไมโครเมตร

นาโนเมตร < ไมโครเมตร < มิลลิเมตร < เซนติเมตร

ข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาสุขภาพจากไมโครพลาสติก

นักวิทยาศาสตร์รู้จักกับไมโครพลาสติกมานานแล้ว แต่ในตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา เริ่มมีการพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในร่างกายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในกระแสเลือด ในเนื้อเยื่อ ในปอด หรือแม้แต่ในน้ำนมแม่ ซึ่งการค้นพบเหล่านี้สร้างความกังวลใจได้ไม่น้อย

ไม่ใช่แค่กับมนุษย์เท่านั้น สัตว์ก็ได้รับผลกระทบนี้จนกลายเป็นวงจรของไมโครพลาสติกแบบไม่รู้จบ อย่างขยะพลาสติกในท้องทะเลก็ทำให้สัตว์น้ำได้รับไมโครพลาสติก เมื่อมนุษย์นำสัตว์ทะเลมาปรุงอาหารก็จะได้รับไมโครพลาสติกที่อยู่ในสัตว์ทะเลเข้าไปด้วย หรือในน้ำดื่มที่ผ่านการฆ่าเชื้อและบรรจุอยู่ในขวดที่ได้มาตรฐานก็อาจมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์ได้เหมือนกัน

สำหรับผักผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่าดีต่อสุขภาพก็เคยมีรายงานว่ามีไมโครพลาสติกปนเปื้อน โดยแอปเปิลและบร็อคโคลีเป็นอาหารในหมวดผักผลไม้ที่พบว่ามีปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อนสูงสุด แต่ในเมื่อไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกอยู่ในทุกอย่างและเราก็ได้รับมันมาตลอดทำไมเราถึงยังไม่เป็นอะไร?

การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าไมโครพลาสติกไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ ในขณะเดียวกัน การศึกษาอีกส่วนหนึ่งก็พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงผลกระทบจากการได้รับไมโครพลาสติก อย่างสาร Bisphenol A หรือ BPA ที่รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายและสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรัง

บางชิ้นก็พบว่าไมโครพลาสติกอาจกระตุ้นการอักเสบของเซลล์ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรค เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันจะทำลายเซลล์ที่มีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมนั้นส่งผลให้เกิดการอักเสบขึ้น นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกในน้ำยังเป็นที่ยึดเกาะของเชื้อโรคทำให้เชื้อไวรัสมีชีวิตได้ยาวนานขึ้นด้วย

ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่อยู่ในไมโครพลาสติกชิ้นนั้นหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบของไมโครพลาสติก เพราะไมโครพลาสติกบางชนิดมีคุณสมบัติการดูดซับสารเคมีอื่นเข้าหาตัวเอง บ้างก็มีสารประกอบที่เป็นพิษ

สุดท้ายนี้ ผลกระทบของไมโครพลาสติกกับปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ เราจึงต้องรอดูผลการศึกษาในอนาคตที่อาจยืนยันได้ว่าเจ้าพลาสติกจิ๋วเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพเราจริงไหม ส่งผลอย่างไร และจะรับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง Hack for Health แนะนำว่าในระหว่างนี้ เราสามารถลดผลกระทบจากไมโครพลาสติกได้ด้วยการใช้พลาสติกให้คุ้มค่าและกำจัดอย่างถูกต้องเพื่อลดปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

ที่มา: WebMD, NBC News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส