โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Compulsive Disorder (OCD) คือ อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกคิด หรือกังวลใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยหาสาเหตุไม่ได้ ก่อเกิดเป็นการคิดวนเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จนกลายเป็นหมกมุ่น และหาวิธีจัดการกับความกังวลใจนั้น ซึ่งอาการของโรคนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ โดยอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ สามารถแบ่งให้เห็นภาพชัด ๆ ได้ 2 อาการ คือ 

อาการย้ำคิด

อาการย้ำคิด จะเกิดต่อเมื่อคุณรู้สึกกังวลใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีมูลเหตุให้คิดเรื่องนั้น แม้ว่าคุณจะรู้ตัวดีว่าไม่มีอะไรที่ควรกังวลใจ แต่ก็ไม่สามารถห้ามความคิดหรือความกังวลที่เกิดขึ้นในใจได้ จนสุดท้ายกลายเป็นหมกมุ่น และหาหนทางแก้ไขเพราะหากไม่หาทางแก้คุณก็จะคิดวนซ้ำ ๆ จนอาจกลายเป็นความเครียด ความกลัวขึ้นมาจนกระทบกับการใช้วิตประจำวัน

ตัวอย่างอาการ

หากเป็นคนทั่วไป เวลาออกจากบ้านไปทำงานก็จะหมั่นตรวจเช็กว่าตนเองปิดน้ำ-ปิดไฟ หรือยัง ซึ่งแม้จะมั่นใจว่าตนเองปิดทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับคนที่มีอาการย้ำคิด แม้จะรู้ว่าตนเองจัดการทุกอย่างแล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลใจอยู่ จนต้องกลับไปดูเพื่อให้ตนเองมั่นใจอีกครั้ง

หรือในบางกรณีที่คุณไม่มั่นใจว่าตนเองล้างมือหรือยัง และคิดวนไปซ้ำ ๆ จนต้องกลับไปล้างมืออีกเพื่อให้ตนเองสบายใจ

อาการย้ำทำ

อาการย้ำทำ เป็นอาการต่อเนื่องมาจากอาการย้ำคิด ที่เมื่อคุณหมกมุ่นอย่างไม่มีสาเหตุและไม่สามารถจัดการกับความคิดตนเองได้ จึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาและทำซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้นเพื่อให้ตนเองมั่นใจ

ตัวอย่างอาการ

อย่างที่ยกตัวอย่างไปว่า คนที่มีอาการย้ำคิดหากกังวลว่าตนเองปิดน้ำ-ปิดไฟ หรือยัง ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมต่อเนื่อง คือต้องกลับห้องมาเพื่อดูว่าตนเองปิดน้ำ-ปิดไฟแล้วหรือยัง และอาจจะตรวจสอบเช็กจุดอื่นของห้องมากขึ้นด้วยความกังวล

หรือในกรณีล้างมือ คนที่มีอาการนี้ก็จะล้างมือซ้ำ ๆ หลายครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตนเองได้ล้างมือไปแล้ว แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจจนต้องจัดการกับตนเองด้วยการล้างมือวนไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแม้คนรอบข้างจะช่วยยืนยันว่าคุณล้างมือไปแล้ว แต่คุณก็ยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี จนต้องล้างมืออยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง

สังเกตตนเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่

คุณอาจจะกำลังสงสัยว่าจริง ๆ แล้วคุณเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือว่าเป็นคนที่มีความเป็นระเบียบและรอบคอบกันแน่ อยากให้คุณลองสังเกตอาการเหล่านี้ว่าตรงกับพฤติกรรมของคุณหรือไม่

  • ตรวจสอบอะไรซ้ำ ๆ เช่น ปิดน้ำ ปิดไฟ ล็อกประตูบ้าน
  • การนับหรือท่องอะไรซ้ำ ๆ เช่น คำพูด หรือวลีต่าง ๆ
  • การจัดเรียงสิ่งของในรูปแบบเฉพาะของตนเอง เช่น การจัดเรียงไปทางด้านซ้ายเหมือนกันหมด
  • เกิดความเครียดและความกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึงอย่างไม่มีสาเหตุ เช่น เรื่องที่มีผลต่อความปลอดภัยของชีวิต

สำหรับอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ หากคุณเริ่มรู้สึกว่าตนเองต้องเสียเวลากับอาการกังวลใจและทำอะไรซ้ำ ๆ โดยที่ไม่สามารถห้ามตนเองได้ คุณอาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป เพราะโรคดังกล่าวนับเป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยบางคนอาจทุกข์ทรมานจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ

สำหรับสาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • คนในครอบครัวมีประวัติโรคย้ำคิดย้ำทำ และส่งต่อทางพันธุกรรม
  • ความผิดปกติของสมอง มีระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ต่ำ
  • เหตุการณ์กระทบจิตใจในชีวิตที่ผ่านมา พบว่าบางคนที่มีประวัติเคยถูกรังแก ทารุณกรรม ฯลฯ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
  • อุปนิสัยส่วนตัว คนที่เรียบร้อย พิถีพิถีน หรือคนที่มีความรับผิดชอบสูง อาจมีแนวโน้มเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้ง่าย

วิธีป้องกันและรักษา

โรคย้ำคิดย้ำทำ สามารถเกิดได้กับทุกวัยซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดได้ในช่วงอายุ 20 ปี เป็นต้นไป และพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่สำคัญยังพบอาการป่วยโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัวการเข้าสังคม โรคแพนิค เป็นต้น 

ปัจจุบันการรักษาแพทย์จะใช้ยาเคมีสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็มีวิธีรักษาด้วยการบำบัด โดยให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง และฝืนใจไม่ให้คิดหรือกังวลมากเกินไป ซึ่งแม้วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดูยากลำบากแต่จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยในระยะยาว 

แนวทางการป้องกันโรค นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงแล้ว อาจจะต้องหากิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบเพื่อคลายความกังวลเรื่องอื่น ๆ หรืออาจจะออกไปพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูงเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับเรื่องที่เป็นกังวลอยู่มากเกินไป 

หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอยู่หรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ตรงจุดกับคุณที่สุด และเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับภาวะอารมณ์อื่น ๆ ด้วย

ที่มา กรมสุขภาพจิต, nhs.uk

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส