Introvert (อิน–โทร–เวิร์ต) เป็นคำที่เราคุ้นหูกันมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ของคำว่า Introvert คือ พฤติกรรมเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเป็นคนเพื่อนน้อยอะไรแบบนั้น ซึ่งกระแสของ Introvert ในไทยก็มีอยู่เรื่อย ๆ ในช่วงหลังคนจำนวนไม่น้อย ‘ประกาศ’ ตัวเองผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok ว่าตัวเองเป็น Introvert

ซึ่งสร้างการถกเถียงระหว่างคนบนโลกอินเทอร์เน็ต บ้างก็ชื่นชม บ้างก็เห็นใจ บ้างก็มองว่าพฤติกรรมการประกาศตัวเองบนไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียไม่ใช่ลักษณะของคน Introvert สักเท่าไหร่ บทความนี้จึงจะพามารู้จักกับนิยามของ Introvert และความเห็นของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าทำไมหลายคนอยากเป็น Introvert บนโลกโซเชียล

นิยามของ Introvert

คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิส ผู้เริ่มต้นทฤษฎี Introvert-Extrovert (Introversion / Extraversion Theory) ได้นิยามบุคลิกแบบ Introvert โดยเอาเรื่องของพลังงานในการทำสิ่งต่าง ๆ เข้ามาจับ ซึ่งตามทฤษฎีของ Carl Jung คนที่มีบุคลิกแบบ Introvert ว่ามักมีพลังงานเพิ่มขึ้นหรือรู้สึกดีมากกว่าเมื่อได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ในขณะที่การพูดคุยกับคนมากหน้าหลายตาจะทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียพลังงานชีวิตเป็นอย่างมาก

จากการสำรวจและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คนที่เป็น Introvert มักมีความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมในลักษณะต่อไปนี้

  • สามารถทำงานได้ดีและมีสมาธิมากกว่าเมื่ออยู่คนเดียว
  • ชอบใช้เวลากับตัวเอง ทำสิ่งตัวเองสนใจ
  • พูดน้อย เป็นผู้ฟังมากกว่า และไม่ค่อยเริ่มการสนทนาก่อน
  • รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ใกล้หรือต้องพูดคุยกับคนแปลกหน้า
  • ไม่ต้องการเป็นจุดสนใจ คน Introvert จึงไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือพูดกับใครก่อน
  • การสื่อสารกับคนแปลกหน้าหรือคนจำนวนมากมักทำให้รู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษ หลังการพูดคุยกับคน ชาว Introvert มักจะกลับไปชาร์จพลังงานด้วยการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง
  • มักคิด วิเคราะห์ เรียบเรียงความคิดและคำพูดในหัวก่อนเสมอ คำพูดหรือความเห็นของชาว Introvert มักถูกมองว่าน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการคิดมาแล้ว แม้ในคนที่มีนิสัยแบบ Introvert จะไม่เคยประกาศตัวหรือรู้ตัวก็ตาม
  • ชาว Introvert ไม่ค่อยชอบความขัดแย้งหรือความยุ่งยากด้านความสัมพันธ์ จึงมักเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่กำลังอารมณ์เสียมากเป็นพิเศษ

แต่นี่เป็นเพียงพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่คนเป็น Introvert มักทำหรือมักรู้สึก และคนแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมที่ดูเป็น Introvert ในด้านอื่น ๆ ได้ด้วยเหมือนกัน

Amélie (2001) ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวชีวิตของอาเมลี หรือ เอมิลี สาวเสิร์ฟช่างฝัน ผู้มีนิสัยแบบ Introvert

 

เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ Introvert

ด้วยคำว่าเก็บตัวและไม่สุงสิงมักทำให้คนเป็น Introvert ถูกเข้าใจผิดและส่วนใหญ่จะเป็นด้านลบ แต่จริง ๆ แล้ว Introvert เป็นเพียงบุคลิกหรือนิสัยหนึ่งเท่านั้นเอง

ตัวอย่างการเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Introvert

  • ขี้อาย: คนเป็น Introvert ไม่ได้ขี้อาย แต่การต้องแสดงออกต่อหน้าคนจะใช้พลังงานและความคิดมากกว่าปกติ ส่วนขี้อายมักรู้สึกตระหนกหรือกังวล
  • ต่อต้านสังคม: คนเป็น Introvert แค่ ‘โลกส่วนตัวสูง’ แต่ไม่ได้เกลียดผู้คนหรือมีบุคลิกต่อต้านสังคม (Antisocial) ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต และชาว Introvert เองก็ต้องการการมีส่วนร่วมกับสังคมและคนอื่น ๆ เพียงแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่สบายใจ
  • เกลียดการพูดคุย: คนเป็น Introvert สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนได้ปกติ สามารถไปสังสรรค์กับคนอื่นได้เหมือนคนทั่วไป แต่ชอบที่จะเป็นผู้ฟังมากกว่า
  • เป็นโรค: Introvert เป็นบุคลิกหรือนิสัยเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่อย่างใด และสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ไปเดินห้าง ไปทำกิจกรรมได้ปกติ
  • ไม่มีเพื่อน: คนเป็น Introvert สามารถมีเพื่อนได้ แต่จะเป็นเพื่อนที่สนิทมาก ๆ แค่ไม่กี่คน มากกว่าการมีเพื่อนกลุ่มใหญ่ ๆ นอกจากนี้ ชาว Introvert รู้สึกเหงาได้ด้วยเหมือนกัน

และอีกสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนทุกคนล้วนมีความเป็น Introvert อยู่ในตัวเองไม่มากก็น้อย คุณอาจเป็นคนชอบสังสรรค์ไปปาร์ตี้แบบ Extrovert แต่เวลาทำงานมักอยากโฟกัสกับตัวเองมากกว่าเหมือน Introvert ก็ได้เหมือนกัน ในช่วงหลังมีการนิยามคำว่า Ambivert เพื่อใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Introvert และ Extrovert

Introvert, Extrovert และ Ambivert เป็นการยัดลักษณะนิสัยหนึ่งเข้าอยู่ในคำคำหนึ่งเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น เพราะในความเป็นจริง โลกนี้มีความหลากหลายและความซับซ้อนด้านบุคลิกและนิสัยนับไม่ถ้วน ซึ่งอาจเป็นผลจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และเหตุการณ์ในชีวิต

ทำไมหลายคนอยากเป็น Introvert?

มาที่ประเด็นที่คนถกเถียงกันถึงการที่หลายคนประกาศตัวว่าเองเป็น Introvert ท่ามกลางโลกโซเชียลมีเดียกันบ้าง จากที่เล่าถึงวิธีคิดและพฤติกรรมของชาว Introvert การประกาศอะไรในพื้นที่สาธารณะ อย่างโซเชียลมีเดียดูไม่มีความเป็น Introvert สักเท่าไหร่

เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 แนนซี่ โซคาร์โน (Nancy Sokarno) นักจิตวิทยาจาก Lysn เว็บไซต์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ผู้คนออกมาประกาศถึงสถานะการเป็น Introvert ผ่านโลกโซเชียลอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบนี้อาจทำให้หลายคนรับรู้ว่าตัวเองชื่นชอบการใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากกว่า หรืออาจเข้าใจว่าตัวเองเป็น Introvert เพราะไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับใครด้วยก็ได้เช่นกัน

Nancy Sokarno นักจิตวิทยาจากเว็บไซต์ Lysn

แต่นั่นไม่ใช่คำตอบทั้งหมด โซคาร์โนได้อธิบายปรากฏการณ์ที่คนบนโลก TikTok ออกมาอ้างว่าตัวเองเป็น Introvert ว่าเป็นพวก ‘Pick me’ ที่เป็นสแลงสำหรับเรียกคนที่ต้องการการยอมรับจากคนอื่นด้วยการทำตัวให้แตกต่าง

ซึ่งคีย์เวิร์ด อย่าง Introvert นำมาถูกใช้เพื่อสร้างการรับรู้ว่าคนเหล่านั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือเป็นคนที่มีความคิดลึกซึ้ง และการใช้ข้อความสาธยายถึงการเป็น Intorvert อย่างตรงไปตรงมาทำให้พวกเขามีตัวตนที่ดู ‘แตกต่างหรือไม่เหมือนกับคนอื่น’

โซคาร์โนเปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้กับปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่าไม่ต่างอะไรกับช่วงที่คนออกมาบอกว่าตัวเองเป็นฮิปสเตอร์ (Hipster) หรือคนที่ทำตัวนอกกระแส รวมถึงถึงคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนมี Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) อะไรแบบนั้นด้วย

สุดท้ายนี้ การเป็น Introvert, Extrovert หรือ Ambivert นั้นไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใคร หรือใครน่าสนใจกว่ากัน เพราะความแตกต่างของบุคลิก นิสัย ความชอบ และพฤติกรรมนั้นเกิดมาพร้อมอารยธรรมมนุษย์และมีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งยังซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้นไปอีก ซึ่งการเป็นตัวของคุณเองโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมนุษย์และการเคารพซึ่งกันและกันถือเป็นความสำคัญสูงสุด

ที่มา: PsychologyToday1, PsychologyToday2, News.com.au

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส