โลก “หลังคีย์บอร์ด” สำหรับบางคน เป็นเหมือนพื้นที่ที่ใช้แสดงความกล้า ปลดปล่อยตัวตน หรือใช้ในการระเบิดพลังในแง่ลบออกมา โดยที่ตัวจริงของเขาอาจจะแตกต่างจากตัวตนที่อยู่ในสื่อโซเชียลอย่างสิ้นเชิง เหตุใดทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นการแสดงออกถึงปมภายในใจบางอย่างหรือไม่ วันนี้เราจะชวนคุณผู้อ่านมาไขคำตอบไปพร้อมกัน

พฤติกรรมเชิงลบบนโซเชียลมีเดีย ที่เกิดจากปมในใจ 

การแสดงออกถึงพฤติกรรมเชิงลบบนโซเชียลมีเดีย มาจากปัจจัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในเชิงจิตวิทยา หรือปัจจัยที่มาจากตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งานรายนั้น ซึ่งเราก็ได้นำเหตุผลบางประการ ที่คน ๆ นึงอาจมีพฤติกรรมเชิงลบและแสดงออกบนโซเชียลมีเดียมานำเสนอ และยังเป็นการแสดงออกถึงปมในใจบางอย่างที่ฝังรากลึกมานานอีกด้วย 

  • ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน: ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียบางคนอาจจะมี account หลุม (แอคหลุม) หรือใช้โปรไฟล์อวตาร (โปรไฟล์ที่ไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งาน ไม่เปิดเผยใบหน้า) ทำให้เป็นการใช้งานโลกออนไลน์แบบไม่เปิดเผยตัวตน และจากการไม่เปิดเผยตัวตนทางออนไลน์นี่แหละ อาจทำให้บางคนรู้สึกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และมีการแสดงออกในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย บูลลี่ หรือแสดงความมุ่งร้ายต่อคนอื่นอย่างชัดเจน โดยที่ไม่เกรงกลัวต่อผลกระทบใด ๆ 
  • เรียกร้องความสนใจ: ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียบางคนในชีวิตจริง อาจเป็นคนธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่สำหรับพฤติกรรมในการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียกลับต้องการเป็นที่สนใจหรือหิวแสง มีการเรียกร้องความสนใจในรูปแบบพฤติกรรมในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ล่อเป้า การใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ต้องการเป็นที่สนใจจากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ต้องการให้มาโต้ตอบเพื่อที่จะได้รับการเติมเต็มทางอารมณ์ 
  • มีความไม่มั่นคงทางจิตใจ และมีความนับถือในตนเองต่ำ: ผู้ที่มีความนับถือในตนเองต่ำ อาจมีส่วนร่วมในการแสดงถึง

พฤติกรรมเชิงลบในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจะใช้วิธีหรือคำพูดที่จะกดให้คนอื่นต่ำลง และมีการแสดงออกว่าตนเองเหนือกว่า จากการดูถูกผู้อื่น ซึ่งจะเป็นเพิ่มความนับถือตนเองแบบชั่วคราว

  • ความอิจฉาริษยา: สื่อสังคมออนไลน์ มักจะนำเสนอชีวิตของผู้คนในด้านที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งก็อาจนำไปสู่ความรู้สึกอิจฉาริษยา และทำให้ผู้ที่เสพสื่อเหล่านี้เกิดพฤติกรรมเชิงได้ 
  • เกิดความคับข้องใจและความไม่พอใจ: บางคนใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นทางออกในการระบายความคับข้องใจ ระบายความทุกข์ ซึ่งจะมีการแสดงออกเชิงลบ มีการใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งก็มาจากความต้องการ ที่อยากจะระบายความทุกข์ที่มาที่ชีวิตจริง 
  • กลไกรับมือกับความเจ็บปวดทางอารมณ์: การแสดงออกถึงพฤติกรรมเชิงลบ อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับบางคนในการรับมือกับความเจ็บปวดทางอารมณ์ หรือความทุกข์ใจของตนเอง การแสดงออกถึงเรื่องราวในเชิงลบอาจเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ที่ถูกกักขังมานาน 
  • ขาดทักษะทางสังคม: สำหรับบางคนอาจมีปัญหาในเรื่องของทักษะการสื่อสารในชีวิตจริง ทำให้มีการนำความเก็บกดนั้นมาแสดงออกในโลกออนไลน์   

พฤติกรรมเชิงลบเหล่านี้ มักสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ทางอารมณ์หรือ “ปมในใจ” ที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ การจัดการกับพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยความเอาใจใส่และความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าบุคคลเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย และความยากลำบากในชีวิตจริง และไม่รู้ว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาที่เจออย่างไรดี ดังนั้นการฝึกแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบุคคลอื่นทางโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่อาจจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ หรืออย่างน้อย ๆ พฤติกรรมในแง่ลบของคนอื่นก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณสักเท่าไหร่นัก

ทำไมบางคนถึงมีพฤติกรรม เป็นเกรียนคีย์บอร์ด  

การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าผู้ที่เป็น “เกรียนคีย์บอร์ด” มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะบุคลิกภาพทางจิต 4 แบบ ได้แก่ 

  1. มีความหลงตัวเอง
  2. Machiavellianism นิสัยชอบหลอกใช้คนอื่น เพื่อทำให้ตัวเองมีอำนาจ
  3. โรคจิต 
  4. Schadenfreude รู้สึกยินดีในความโชคร้ายของคนอื่น

เกรียนคีย์บอร์ด มักจะซ่อนตัวอยู่หลังชื่อปลอมหรือบัญชีนิรนาม ซึ่งมักจะพบได้ในกระทู้ทั่วไป เช่น ใน Reddit ฟอรัมสนทนาทางอินเทอร์เน็ตยอดนิยม หรือบน Twitter เป็นต้น ผู้ที่ลักษณะเป็น เกรียนคีย์บอร์ด จะมีความรู้สึกสนุกสนานกับการดึงดูดนำผู้อื่นเข้าสู่สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยพลังลบ โดยไม่มีการใช้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น 

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาการแก้ปัญหาพฤติกรรมในแง่ลบในสื่อโซเชียลมีเดียก็คือ ให้คุณมองว่าเกรียนคีย์บอร์ดรายนั้น หรือพฤติกรรมเชิงลบที่คุณเจออยู่ มาจากบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ มีชีวิตจริง มีเลือดมีเนื้อ มีการกินข้าว มีการใช้ชีวิตเหมือนกับคุณแต่บางครั้งเขาอาจจะเจอกับสถานการณ์ที่แย่ กำลังเจอกับปัญหาในชีวิตและหาทางออกไม่เจอ ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหายังไง จึงมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ เราทุกคนจึงควรพยายามเคารพผู้อื่นให้มากขึ้น แม้ว่ามุมมองของผู้อื่นอาจไม่สอดคล้องกับมุมมองของเราก็ตาม 

และในกรณีที่คุณกำลังเกิดอารมณ์แง่ลบในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์มากเกินไป หรือการอิจฉาชีวิตที่ดีของผู้อื่นในโลกออนไลน์ เราขอแนะนำให้คุณจำไว้เสมอว่า โลกมี 2 ด้านเสมอ ไม่มีใครที่จะมีชีวิตอันแสนเพอร์เฟคตลอดเวลา ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ เป็นคนที่มีความทุกข์มีความเครียดเหมือนกัน ดังนั้นขอให้คุณจงใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างเข้าใจแล้วจะไม่ทุกข์ 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส