ไขมันทรานส์ (Trans fat) เป็นชนิดของไขมันที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและยังเป็นอันตรายด้วย กฎหมายไทยได้สั่งแบนไขมันทรานส์ หรือห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 สินค้าและอาหารที่เคยมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบจึงต้องปรับสูตรใหม่ให้ไร้ไขมันทรานส์ แต่ถึงอย่างนั้นไขมันทรานส์ก็ไม่ได้หายไปจากชีวิตเรา

Hack for Health เลยจะพามาย้อนรอยอันตรายของไขมันทรานส์ และไขมันตัวร้ายอีกชนิดที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน

ไขมันทรานส์คืออะไร อันตรายแค่ไหน?

คนมักจะรู้ว่าไขมันทรานส์ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่อาจยังไม่รู้ว่าไขมันทรานส์คืออะไรกันแน่ และอันตรายอย่างไร

ไขมันทรานส์ คือ กรดไขมันชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในอาหาร แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1) ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ ซึ่งมาจากเนื้อสัตว์และผลิตจากสัตว์ และ 2) ไขมันทรานส์สังเคราะห์ที่มาจากกระบวนการผลิตอาหารด้วยการเติมก๊าซไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืชเพียงบางส่วนเพื่อเปลี่ยนสถานะของเหลวให้กลายเป็นก้อนไขมันเพื่อนำไปใช้ปรุงอาหาร

จากข้อมูล การได้รับไขมันทรานส์ที่มาจากธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสมนั้นปลอดภัย แต่สำหรับไขมันทรานส์สังเคราะห์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้นแม้ในปริมาณเล็กน้อย

ด้วยความที่เป็นไขมันจึงทำให้ไขมันทรานส์ให้พลังงานสูง ซึ่งร่างกายต้องการไขมันในแต่ละวันเพียงน้อยนิดเท่านั้น การได้รับไขมันทรานส์จึงสัมพันธ์กับพลังงานและระดับไขมันในร่างกาย การได้รับไขมันทรานส์ส่งผลให้ระดับไขมันชนิดที่ไม่ดีในร่างกายหรือ LDL (Low-Density Lipoprotein) สูงขึ้น และลดระดับของไขมันในเลือดที่ดีต่อร่างกายหรือ HDL (High-Density Lipoprotein)

โดยระดับ LDL ที่เพิ่มสูงขึ้นสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวและโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น

  • โรคอ้วน
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคมะเร็ง

การได้รับไขมันทรานส์มากเกินไปจะทำให้ไขมันชนิดที่ไม่ดีในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งไขมันที่ไม่ดีเหล่านี้จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไปคราบไขมันจะกลายเป็นคราบหินปูนที่เรียกว่าคราบพลัค (Plaque) ในหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดบางและอ่อนแอ เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เพราะหลอดเลือดตีบจากคราบพลัค เมื่อหลอดเลือดตีบ หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อพยายามสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นานวันเข้าจึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเริ่มเสื่อมจนเกิดโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ได้

สรุปได้ว่าเมื่อได้รับไขมันทรานส์ ไขมันในเลือดจะสูงขึ้น และไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้อวัยวะนั้นเสื่อมลงจนเกิดความผิดปกติตามมา

ไขมันทรานส์ไม่ได้เป็นคนร้ายเพียงคนเดียว

กฎหมายที่ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์ช่วยยกระดับสุขภาพของคนไทยได้ ทุกวันนี้เราอาจได้รับไขมันทรานส์ธรรมชาติจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่บ้าง ซึ่งไม่เป็นอันตรายเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสม โดยเนื้อวัวอาจมีไขมันทรานส์ราว 3–9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนมจากสัตว์อาจมีไขมันทรานส์ราว 2–5 เปอร์เซ็นต์ แต่การรับประทานมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้

ทุกวันนี้ไขมันทรานส์ไม่ได้เป็นตัวร้ายที่มีบทบาทมากแล้วนักเมื่อเทียบกับ ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไขมันอิ่มตัวพบได้ในอาหารหลายชนิด ทั้งของทอด ของมัน ของหวาน ไขมันจากสัตว์ และน้ำมันพืชบางชนิด ซึ่งการได้รับไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากเป็นประจำสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ไม่ต่างจากไขมันทรานส์

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าในแต่ละวันไม่ควรได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวเกิน 7 เปอร์เซ็นต์จากพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน เช่น หากใน 1 วัน คุณต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี คุณไม่ควรได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวเกิน 140 กิโลแคลอรีนั่นเอง

ดังนั้น แม้ในประเทศไทยจะไม่มีไขมันทรานส์แล้ว แต่การใส่ใจเรื่องสารอาหารและโภชนาการ โดยเฉพาะไขมันยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนควรให้ความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้

ที่มา: BBC, American Health Association, Cleveland Clinic, Harvard

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส