หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าชื่อของโรคมะเร็งในภาษาอังกฤษเขียนว่า Cancer (แคนเซอร์) ซึ่งเหมือนกับ Cancer ที่หมายถึงราศี กรกฎ จนทำให้คนสงสัยว่าโรคมะเร็งกับราศีกรกฎเกี่ยวข้องกันอย่างไร? แต่ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ว่าคนราศีนี้จะมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งมากกว่า

คนที่เข้ามาอ่านน่าจะรู้แล้วว่า Cancer หมายถึงปูในภาษาละติน ซึ่งในภาษาอังกฤษยืมคำนี้มาใช้เพื่อเรียกทั้งกลุ่มดาวประจำราศีกรกฎและชื่อโรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก

การเรียกโรคมะเร็งว่า Cancer มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วทำไมต้องเป็นปู?

โรคมะเร็งเป็นโรคดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่แสงแรกในอารยธรรมมนุษย์ราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลมนุษย์ เคยมีการขุดค้นพบฟอสซิลกระดูกมนุษย์หรือซากมัมมี่โบราณที่มีร่องรอยของโรคมะเร็งที่คงเหลือไว้ในกระดูก

Cancer มีรากมาจากคำว่า Carcinos (คาซิโนส์) และ Carcinoma (คาร์ซิโนมา) ในภาษากรีกโบราณที่หมายถึงปู คำนี้ถูกใช้เพื่อเรียกโรคมะเร็งครั้งแรกเมื่อ 460–370 ปีก่อนคริสตกาล โดยฮิปโปเครติส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีกที่มีชีวิตจริงอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก

ฮิโปเครติสใช้คำว่า Carcinos และ Carcinoma เรียกเนื้องอก ทั้งชนิดที่ทำให้เกิดแผลและไม่ทำให้เกิดแผล โดยการแพร่กระจายของเนื้องอกมีลักษณะเป็นขาหลายขาแผ่กระจายออกมาคล้ายกับขาของปู โดยส่วนที่อยู่ตรงกลางเป็นตัวปู

Image Credit: Giovanni Cancemi / Shutterstock

หลังเวลาผ่านไป หมอชาวโรมันชื่อ เซลซัส (Celsus) ได้แปลคำว่า Carcino และ Carcinoma จากภาษากรีกให้กลายเป็นภาษาละติน (โรมัน) ซึ่งก็คือคำว่า Canker ที่หมายถึงปู ทั้งยังใช้เรียกแปลที่มีลักษณะเปื่อยยุ่ย ก่อนจะกลายมาเป็น Cancer หลังจากนั้นก็มีการใช้คำนี้เรียกอาการที่มีการลุกลามหรือแพร่กระจายในลักษณะดังกล่าวว่า Cancer เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ‘oma’ ที่ต่อท้าย Carcinoma เป็นคำต่อท้าย (Suffix) ที่หมายถึงก้อนเนื้อ หรือ ก้อน ‘ทูม’ หรือ ทูเมอร์ (Tumor) ที่แปลว่าเนื้องอกในภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งจะเห็นการใช้คำว่า ‘คางทูม’ หรืออาการที่คางบวมใหญ่และยื่นออกมา

คำว่ากรกฎที่เป็นชื่อราศีและชื่อเดือนนั้นหมายถึงปูที่คนไทยเรียกได้รับอิทธิพลมาจากดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ทางฝั่งตะวันตกตั้งแต่ในอดีตที่เรียกกลุ่มดาวที่มีหน้าตาคล้ายกับปู (ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าอาจไม่คล้ายเท่าไหร่)

แล้วโรคมะเร็งมาจากไหน ทำไมไม่เรียกโรคปู?

จากเวชบันทึกศิริราชในบทความ มะเร็ง: ความเป็นมาของศัพท์แพทย์ และครบรอบ 100 ปีของการวินิจฉัย มะเร็งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา ได้ให้ที่มาของคำว่ามะเร็ง โดยอ้างอิงจากหนังสือพจนานุกรม ‘สัพะ พะจะนะ พาสา ไท’ (พ.ศ. 2397) พบคำว่า ‘มเรง’ ที่หมายถึงแผลเปื่อยจากกามโรค (Venereal ulcer) ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ Chancre / Canker หรือ Cancer นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคำว่า แคงเกอร์ (Canker) ไม่ได้ใช้เรียกมะเร็งโดยตรงแล้ว แต่ใช้เรียกแผลเปื่อยชนิดอื่น ๆ นอกจากแผลจากมะเร็งด้วย อย่างแผลร้อนในภายในช่องปาก และแผลที่ปากจากโรคปากนกกระจอกด้วย

ตลอดบทความนี้จะเห็นว่าโรคมะเร็งนั้นอยู่กับมวลมนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ถึงอย่างนั้นอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การลดความเครียด ไปจนถึงการงดปัจจัยเสี่ยง อย่างบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่มีหน้าตาคล้ายกับปูชนิดนี้ได้

ที่มา: Cancer Organization, Thai Journal

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส