ความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก หมายถึง ความกังวล ความไม่มั่นคง และความสงสัยในสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ได้ แม้ว่าในความสัมพันธ์ครั้งนี้ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดีก็ตาม

สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากคุณกำลังมีความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญที่คุณรัก คุณจะได้พัฒนาความไว้วางใจ ใกล้ชิดกันมากขึ้น และเรียนรู้รูปแบบการสื่อสารของกันและกัน แต่ในขณะเดียวกัน คุณอาจพบว่าตัวเองกำลังตั้งคำถามกับคู่ของคุณ และความสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา

ความวิตกกังวลเหล่านี้บางครั้งอาจหายไปเป็นครั้งคราว แต่สุดท้ายก็อาจกลับมาได้อีกจนกลายเป็นทำร้ายความสัมพันธ์ของคุณกับคนรักอย่างที่ไม่ควรจะเป็น 

คิดมากเรื่องความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ?

คำตอบคือ ใช่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ได้เคยกล่าวไว้ว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก บางคนอาจประสบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ก่อนที่พวกเขาจะรู้ว่าคู่ของตนเองไม่ได้มีเรื่องอย่างที่กังวลไป ในบางคนอาจมีความคิดว่าแท้จริงแล้วตัวเองอาจไม่ได้ต้องการมีความสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ระยะยาวที่มีความมั่นคงเช่นกัน และเมื่อเวลาผ่านไป ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาจนำไปสู่ปัญหาหลายด้าน เช่น

  • ความทุกข์ใจอย่างหนัก
  • ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • รู้สึกถึงความเหนื่อยล้า
  • เกิดปฏิกิริยาทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง หรือความกังวลทางร่างกายอื่น ๆ

อะไรคือสัญญาณของความวิตกกังวลในความสัมพันธ์ ?

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์สามารถแสดงออกได้หลายวิธี คนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในบางจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการออกเดทและการสร้างพันธะสัญญาต่าง ๆ  นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่บางครั้งความคิดวิตกกังวลเหล่านี้ก็เติบโตและเล็ดลอดเข้ามาในชีวิตประจำวันของคุณได้เช่นกัน โดยมีสัญญาณดังนี้

1.สงสัยว่าตัวเองมีความสำคัญสำหรับคนรักหรือไม่ ?

การแสดงออกของความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ คำถามที่ว่า ‘ฉันสำคัญไหม’ หรือ ‘คุณจะอยู่ตรงนี้เพื่อฉันไหม’ สิ่งนี้พูดถึงความต้องการขั้นพื้นฐานในการเชื่อมต่อความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในชีวิตคู่ คุณอาจมีความคิด หรือเกิดความสงสัย ดังนี้

  • คู่ของคุณจะไม่คิดถึงคุณมากนักหากคุณไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ
  • คนรักอาจไม่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหากมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณ
  • เขาแค่ต้องการอยู่กับคุณเพราะสิ่งที่คุณจะทำให้พวกเขาเท่านั้น
  • สงสัยในความรู้สึกของคนรักที่มีต่อคุณ

แม้ว่าคนรักของคุณดูมีความสุขเสมอที่ได้พบคุณและทำท่าทางใจดี แต่คุณยังคงไม่สามารถสลัดความคิดที่ว่า “พวกเขาไม่รักฉันจริง ๆ “

บางทีคนรักของคุณอาจตอบสนองสิ่งที่คุณต้องการช้า หรือพวกเขาไม่ตอบข้อความเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือเมื่อจู่ ๆ เขาดูห่างเหินกัน คุณจะรู้สึกสงสัยทันทีว่าความรู้สึกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งทุกคนรู้สึกแบบนี้เป็นครั้งคราว แต่ความกังวลเหล่านี้สามารถกลายเป็นสิ่งที่จับจ้องได้หากคุณมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์มากเกินไป

2.กังวลว่าคนรักต้องการจะเลิกรา

ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถทำให้คุณรู้สึกเป็นที่รัก มั่นคง และมีความสุข เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บความรู้สึกเหล่านี้ไว้ และหวังว่าจะไม่มีอะไรมาทำลายความสัมพันธ์ แต่บางครั้งความคิดเหล่านี้อาจกลายเป็นความกลัวอย่างต่อเนื่องว่าคู่ของคุณทิ้งคุณไป ความวิตกกังวลนี้อาจกลายเป็นปัญหาได้ ยิ่งหากคุณเลือกแสดงพฤติกรรมในด้านลบออกมาเพื่อต้องการประชดประชันคนรัก

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาจทำให้คุณสงสัยว่าตัวเองและคนรักเข้ากันได้จริง ๆ หรือไม่ แม้ว่าความสัมพันธ์จะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม และคุณอาจตั้งคำถามด้วยว่าตัวคุณเองมีความสุขจริงหรือแค่คิดไปเองว่ามีความสุขกันแน่

3.คิดมากกับคำพูดและการกระทำของคนรัก

แนวโน้มที่จะคิดมากกับคำพูดและการกระทำของคนรัก อาจบ่งบอกถึงความวิตกกังวลในความสัมพันธ์ได้เช่นกัน บางทีคนรักของคุณอาจไม่ชอบจับมือกัน หรือเมื่อต้องย้ายมาอยู่ด้วยกันและมีความคิดเห็นหลายอย่างที่แตกต่างกัน กลายเป็นมีปากเสียง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้คุณเกิดความวิตกกังวล และมีปัญหาอื่นตามมา 

4.พลาดช่วงเวลาดี ๆ

หากคุณยังไม่แน่ใจว่าคุณกำลังเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือไม่ ให้ลองย้อนกลับมาหนึ่งก้าวแล้วถามตัวเองว่า คุณใช้เวลากังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้มากกว่าสนุกกับมันหรือเปล่า ? หากคุณรู้สึกแบบนี้บ่อย ๆ คุณอาจกำลังเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อยู่

สาเหตุของความวิตกกังวล

การระบุสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความวิตกกังวลของคุณอาจต้องใช้เวลาและการสำรวจตัวเองโดยเฉพาะ เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน หรือบางทีคุณเองก็อาจไม่ทราบสาเหตุของความวิตกกังวลดังกล่าวก็ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้อาจมีส่วนทำให้เกิดความวิตกกังวลในความสัมพันธ์ได้เช่นกัน

1.ประสบการณ์ความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้

ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอาจส่งผลต่อคุณกับคนใหม่ได้ แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณลืมมันไปได้แล้วก็ตาม คุณอาจมีแนวโน้มที่จะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์หากอดีตคนรักนอกใจคุณ หรือมักโกหกคุณอยู่เสมอ 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีปัญหาในการไว้วางใจใครสักคนอีกครั้งหลังจากที่คุณได้รับบาดเจ็บ แม้ว่าคนรักปัจจุบันของคุณจะไม่แสดงอาการหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์ก็ตาม

2.ความนับถือตนเองต่ำ

บางครั้งความนับถือตนเองต่ำอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์และความวิตกกังวล งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำมักจะสงสัยในความรู้สึกของคนรัก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความรู้สึกผิดหวังในตัวเองสามารถทำให้คุณเชื่อว่าคนรักของคุณรู้สึกแบบเดียวกันกับคุณได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

จะเอาชนะความรู้สึกวิตกกังวลนี้ได้อย่างไร ? 

1.รักษาความเป็นตัวตนของคุณไว้

เมื่อคุณและคนรักใกล้ชิดกันมากขึ้น คุณอาจพบว่าความเป็นอิสระของคุณเริ่มน้อยลง สิ่งนี้มักเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อคุณและคู่ของคุณกลายเป็นคู่รัก การสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองในความสัมพันธ์หรือการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับสิ่งที่คุณคิดว่าคู่ของคุณต้องการ สิ่งนี้อาจทำให้คุณจะเริ่มรู้สึกไม่เป็นตัวเองเข้าสักวัน นอกจากนี้ คู่ของคุณอาจรู้สึกราวกับว่าพวกเขาได้สูญเสียคนที่เขาตกหลุมรักไป

2.พยายามมีสติมากขึ้น

การฝึกสติจะมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อคุณติดอยู่ในวังวนความคิดด้านลบ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณจัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ และรักษาความรักครั้งนี้ให้ดีที่สุด ท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์อาจจะจบลงในไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี แต่คุณยังสามารถชื่นชมและสนุกกับมันได้ทุกครั้งที่นึกถึง

3.ฝึกฝนการสื่อสารที่ดี

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์มักมาจากภายใน ดังนั้นจึงอาจไม่เกี่ยวข้องกับคู่ของคุณ แต่ถ้ามีบางสิ่งที่กระตุ้นให้คุณวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโทรศัพท์ของคนรักที่บางครั้งดูเหมือนมีอะไรปิดบังอยู่

แม้ว่าคุณจะรู้ว่าเขารักคุณจริง ๆ และความกังวลของคุณมาจากภายใน ดังนั้น คุณจำเป็นต้องสื่อสารกับคนรักและอธิบายในสิ่งที่คุณกำลังวิตกกังวลอยู่เพื่อปรับความเข้าใจกัน นอกจากนี้ การเปิดใจและยอมอ่อนข้อยังสามารถเสริมสร้างสายสัมพันธ์ของคุณกับคนรักให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

4.พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ

หากคุณมีปัญหาในการรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้วยตัวคุณเอง การพูดคุยกับนักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยให้คุณเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ดีในการเรียนรู้วิธีรับมือกับผลกระทบของความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเองด้วย

ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่แน่นอนและนั่นอาจเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งหมดได้ แต่ขณะเดียวกันการฝึกจิตใจของตัวเอง และหยุดตั้งคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับคนรักและหันมาใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น จะทำให้คุณใช้ชีวิตมีความสุขกับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง

ที่มา eugenetherapy , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส