ในโลกที่กำลังเดินหน้าไปสู่อนาคตอย่างรวดเร็ว ความกดดันจากการทำงาน อาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและร่างกายของคุณเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้หลาย ๆ คนอาจกำลังอยู่ในห้วงของความสับสน นี่ฉันกำลัง “ขี้เกียจ” หรือ “กำลังหมดไฟในการทำงานกันแน่” เพราะถึงแม้ว่า 2 อารมณ์นี้อาจดูคล้ายกันในตอนแรก แต่สิ่งสำคัญคือ คุณต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง 2 ขั้วอารมณ์นี้ เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในตนเอง และหาวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ Burn Out และความเกียจคร้าน 

ภาวะ Burn Out คือสภาวะความอ่อนล้าทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมความเครียดในระดับสูงเป็นเวลานาน ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจของคุณแบกรับความเครียดที่มาจากการทำงานเป็นเวลานาน จนยากที่จะรับมือ และในทางกลับกันความหมายของความเกียจคร้าน คือ ความตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงในการทำงานหนัก หรือไม่อยากทำงาน ทำไปแบบส่ง ๆ ให้จบ ๆ ไป โดยมีลักษณะเด่นคือขาดแรงจูงใจ ขาดความสนใจ และไม่อยากมีส่วนร่วมในการทำงาน 

ภาวะ Burn Out และความเกียจคร้าน คุณกำลังอยู่ในห้วงอารมณ์ไหน? 

มาสำรวจกันดีกว่าว่าระหว่าง ภาวะ Burn Out (ทำงานมากไปจนหมดใจ) และความเกียจคร้าน (ไม่อยากทำงานเลย) คุณกำลังอยู่ในภาวะไหน

  • ภาวะ Burn Out: เกิดจากความเครียด การรับภาระงานที่หนักเกินไป หรือแบกความรับผิดชอบที่มากเกินไป โดยเป็นผลมาจากการกดดันตัวเองอย่างหนักเกินไป โดยไม่ได้พักผ่อนและไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม 
  • ความเกียจคร้าน: เป็นการตัดสินใจที่จะไม่อยากทำงาน หรือ อยากทำน้อย ๆ เน้นความสบายเป็นหลัก แม้จะมีศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ก็ตาม 

สำรวจเจาะลึก คุณกำลังอยู่ในภาวะ Burn Out หรือไม่? 

และถ้าคุณคิดว่าตนเองกำลังอยู่ในช่วงภาวะ Burn Out แต่อยากจะเช็กให้มั่นใจลองสำรวจปัจจัยที่เรานำมาแนะนำนี้กันดู สิ่งเหล่า นี้เกิดขึ้นกับคุณบ้างหรือไม่

  • เกิดความเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง: หากคุณพบว่าตัวเองรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ อาจเป็นสัญญาณของความเหนื่อยหน่าย
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง: ถ้าคุณพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองลดลงอย่างเห็นได้ชัด คุณกำลังอยู่ในช่วงภาวะ Burn Out
  • สิ่งที่เคยทำ ตอนนี้ไม่ทำให้มีความสุขแล้ว: หากคุณรู้สึกไม่มีความสุขจากกิจกรรมที่คุณทำแล้ว “เคยมี” ความสุข สิ่งนี้อาจบ่งบอกว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะความเครียดอย่างหนัก
  • ความไม่มั่นคงทางอารมณ์: คุณมักพบว่าตนเองมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด และมีความอ่อนไหวทางอารมณ์เพิ่มขึ้นหรือไม่? สิ่งนี้อาจมาจากการสะสมความกดดันมาอย่างต่อเนื่อง 
  • ขาดความสนใจ: หากความกระตือรือร้นในการทำงานของคุณลดลง ทั้ง ๆ ก่อนหน้านี้คุณก็อยากทำงานตามปกติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ 

ดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่ ภาวะ Burn Out

อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าสู่สภาวะ Burn Out เพราะสิ่งนี้จะทำให้สภาพจิตใจของคุณนั้นดิ่งลงเป็นอย่างมาก แต่ในยามที่คุณสังเกตว่าตัวเองเข้าสู่ภาวะนี้แล้ว ขอให้ถอยออกมา ยังมีวิธีแก้ไข โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมที่เราอยากจะแนะนำดังนี้ 

  • การดูแลตนเอง: ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง เช่น มีการนอนหลับที่เหมาะสม มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • กำหนดขอบเขต: กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างงาน ชีวิตส่วนตัว และเวลาพักผ่อน เพื่อป้องกันการรับความกดดันมากเกินไป 
  • ขอแรงใจ: พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อวางแผนกลยุทธ์การเผชิญหน้ากับปัญหา และหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสม 
  • การบริหารเวลา: บริหารเวลาให้สมดุล ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาพักผ่อนเพื่อป้องกันความเหนื่อยล้าทางใจและทางกาย 
  • ฝึกสติและการผ่อนคลาย: ฝึกการเจริญสติ การทำสมาธิ และการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับความเครียด 

ปัญหาความเกียจคร้านในที่ทำงาน 

ความเกียจคร้านในการทำงาน คือการแสดงออกถึงการขาดแรงจูงใจการในการทำงาน ไม่อยากมีความรับผิดชอบ เป็นสถานะที่บคนทำงานเลือกที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ต้องการทำให้งานของตนสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พฤติกรรมนี้อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมาก 

การแก้ปัญหาความเกียจคร้าน 

การแก้ปัญหาความเกียจคร้านในที่ทำงาน ต้องอาศัยแรงใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมีวิธีแก้ปัญหาที่เราอยากแนะนำ ดังนี้

  • ระบุสาเหตุของความขี้เกียจ ทำความเข้าใจว่าทำไมคุณถึงรู้สึกขี้เกียจ เป็นเพราะขาดความสนใจ หรือมาจากปัจจัยอย่างอื่น
  • แบ่งงาน: แบ่งงานของคุณออกเป็นงานย่อย ๆ ที่จัดการได้ง่ายขึ้น วิธีนี้จะทำให้ภาระงานโดยรวมหนักน้อยลง
  • กำหนดเป้าหมายในแต่ละวัน: กำหนดเป้าหมายในการทำงาน ในแต่ละวัน เป้าหมายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้แก่คุณได้
  • การจัดการเวลา ด้วยเทคนิค Pomodoro: ใช้เทคนิค Pomodoro ในการทำงาน โดยเริ่มจากการทำงานในระยะเวลา 25 นาทีตามด้วยพัก 5 นาที ซึ่งจะช่วยแบ่งเวลาให้ดี และทำให้คุณมีการทำงานที่สนุกขึ้น 

การทำความเข้าใจความแตกต่างที่สำคัญระหว่างภาวะ Burn Out และความเกียจคร้าน จะทำให้คุณได้ทำความรู้จักกับสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่ และหาทางแก้ไขได้อย่างเหมาะสม และไม่ว่าคุณจะทำงานมากเกินไป หรือทำงานน้อยเกินไป เราหวังว่าวันนี้คุณจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้ว และหาทางปรับสมดุลชีวิตให้กลับมาอยู่ตรงกลางได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส