ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชีสได้รับความนิยมในคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งข่าวจากสหราชอาณาจักรข่าวนี้อาจทำให้เราต้องระวังในการบริโภคชีสกันมากขึ้น แม้ว่าชีสในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องผ่านมาตรฐานการควบคุม และการนำเข้าจากบริษัทใหญ่ที่ได้รับการตรวจสอบอยู่เสมอก็ตาม

จากรายงานพบว่ามีชายชาวสกอตแลนด์คนหนึ่งได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) ที่ทำให้เกิดภาวะการได้รับสารพิษชิกาจากเชื้ออีโคไล (STEC: Shiga-toxin producing Escherichia Coli) ซึ่งทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เช่น ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดท้องอย่างรุนแรง ไปจนถึงถ่ายเป็นเลือด ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะเม็ดเลือดแดงแตกที่อาจทำให้ไตล้มเหลว และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยัวไม่มีการยืนยันว่าชายคนนี้ได้รับเชื้อดังกล่าวมาจากชีส

แต่รายงานชิ้นอื่นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรพบว่ามีผู้ป่วยจากสารพิษชนิดเดียวกันจำนวนกว่า 30 รายในพื้นที่สกอตแลนด์ และเกาะอังกฤษตั้งแต่ช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งบางคนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรได้ออกเตือนประชาชนให้เลี่ยงการบริโภคชีสยี่ห้อ Mrs. Kirkham ที่คาดว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล และอาจเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยที่พบตั้งแต่ช่วงกลางปี

โดยเจ้าของชีสยี่ห้อ Mrs. Kirkham ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่กระจายไปทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบ และผลการตรวจเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลในชีสเหล่านี้ ซึ่งยังจำเป็นต้องตรวจสอบต่อไป

เชื้ออีโคไลไม่ได้มาจากอาหารเพียงอย่างเดียว

เชื้ออีโคไลเป็นแบคทีเรียแกรมลบที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ การสัมผัสกับดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ มูลสัตว์ และปุ๋ยอาจทำให้ได้รับเชื้ออีโคไลเข้าสู่ร่างกาย และระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงการว่ายน้ำในสระเดียวกับผู้ติดเชื้อด้วย และไม่ใช่แค่ชีสเท่านั้น เชื้ออีโคไลสามารถปนเปื้อนมากับอาหารได้ทุกชนิด

ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงด้วยการล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสิ่งสกปรก หรือสิ่งของต่าง ๆ และล้างมือก่อนหยิบจับ หรือรับประทานอาหารเสมอ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกด้วยความร้อน และเลี่ยงการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

สำหรับใครที่ชื่นชอบการรับประทานชีส ควรเลือกซื้อชีสที่อยู่ในสภาพดี ไม่มีจุด หรือสีที่เปลี่ยนไป บรรจุภัณฑ์ไม่ขาดหรือชำรุด วางอยู่ตู้แช่ เช็กวันหมดอายุก่อนซื้อ เก็บในตู้เย็นเสมอ และซื้อเท่าที่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงที่ชีสจะหมดอายุ

ที่มา BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส