ใครเป็นลูกคนเดียวอาจมีบางโมเมนต์ที่รู้สึกอยากมีพี่น้องเหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง เพราะพี่น้องบางคนก็สนิทกัน เป็นทั้งพี่น้อง เป็นทั้งเพื่อน แต่บางครอบครัว การมีพี่น้องก็เหมือนลิ้นกับฟันที่กระทบกระทั่งกันอยู่ตลอด แถมอาจมีปัญหาเรื่องพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน คนนั้นได้แบบนี้ คนนี้ได้แบบนั้น

ซึ่งการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพจิตกับจำนวนพี่น้องในครอบครัวพบว่า จำนวนพี่น้องที่เพิ่มมากขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่แย่ลง

การศึกษานี้ได้ใช้ข้อมูลจากเด็กนักเรียนชาวจีนเกรด 8 (เทียบเท่าชั้นม.3) จำนวนมากกว่า 9,400 คน และเด็กนักเรียนเกรด 8 ชาวอเมริกันมากกว่า 9,100 คน โดยเด็กทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 14 ปี

โดยทีมนักวิจัยได้ถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งคำถามระหว่างเด็กจีน และเด็กอเมริกันจะแตกต่างกันตามบริบทของสังคม เพราะอย่างประเทศจีนที่มีนโยบายลูกคนเดียว ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการมีพี่น้องต่ำกว่าสหรัฐฯ

เด็กที่ไม่มีพี่น้อง สุขภาพจิตดีที่สุด

จากการวิเคราะห์คำตอบเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ได้ถามเด็กเหล่านี้ ผลลัพธ์ออกมาว่า ‘เด็กนักเรียนชาวจีนที่ไม่มีพี่หรือน้องเลย เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตดีมากที่สุด ส่วนเด็กนักเรียนชาวอเมริกันที่ไม่มีพี่น้อง หรือพี่น้อง 1 คนมีสุขภาพจิตในระดับที่ใกล้เคียงกัน’

ข้อมูลจากทางฝั่งอเมริกายังพบว่าเด็กที่มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน หรือพี่น้องต่างพ่อ/แม่ก็ล้วนส่งผลด้านลบต่อสุขภาพจิตของเด็ก และกลุ่มที่สุขภาพจิตแย่ที่สุด คือ พี่น้องที่อายุห่างกันไม่เกิน 1 ปี

ยิ่งพี่น้องเยอะ ต้องหารเยอะ

ดัก ดาวนีย์ (Doug Downey) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ผู้นำการศึกษาในครั้งนี้ได้พูดถึงเหตุผลว่าทำไมเด็กที่มีพี่น้องถึงสุขภาพจิตย่ำแย่กว่าลูกคนเดียว และทำไมการมีพี่น้องมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่มากยิ่งขึ้นว่าเป็นผลมาจาก ‘การแบ่งปันทรัพยากร’

ให้อธิบายง่าย ๆ คือ ยิ่งพี่น้องเยอะ ยิ่งต้องหารสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ลูกแต่ละคนได้รับทรัพยากรต่าง ๆ ที่พ่อแม่หามาได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่จะเติมเต็มความพอใจได้ ทั้งเงิน อาหาร สิ่งของที่ต้องการ รวมไปถึงความรัก และความเอาใจใส่ที่ต้องหารกับพี่น้องตามจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เด็กที่มีพี่น้องจึงได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต และเด็กที่ช่วงอายุเดียวกันมักมีความต้องการในทรัพยากรแบบเดียวกัน จึงเกิดการแข่งขัน และแย่งชิงทรัพยากรจากพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว

ถ้าพ่อแม่พร้อม การมีพี่น้องอาจไม่ใช่ปัญหา

ข้อมูลยังพบด้วยว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี อย่างเด็กชาวจีนที่ไม่มีพี่น้อง หรือเด็กอเมริกันที่ไม่มีพี่น้อง หรือมีแค่คนเดียวจึงเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีที่สุด จากข้อมูลอื่น ๆ ก็พบว่าการอยู่ในสถานะเศรษฐกิจ และสังคมต่ำสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาด้านอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาพรวมพบว่าการมีพี่น้องสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่แย่กว่าอยู่ดี

แต่ข้อมูลเหล่านี้อาจบอกไม่ได้ทั้งหมด

ดัก ดาวนีย์ได้อธิบายผลลัพธ์จากการศึกษาในครั้งนี้ผ่านมุมมองของเขาว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาอาจไม่ได้การันตีว่าการมีพี่น้องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต หรือชีวิตของเด็ก แต่คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างหาก การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องสามารถช่วยให้เด็กมีทักษะในการเข้าสังคมเพิ่มมากขึ้น และการศึกษาก็บอกด้วยว่าครอบครัวที่มีพี่น้องมักมีแนวโน้มในการหย่าร้างน้อยลง

ทีมนักวิจัยจึงอยากให้มีการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของการมีพี่น้อง กับสุขภาพจิตเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ผลกระทบในแง่มุมอื่น ๆ เพราะสถานการณ์โลกในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มมีอัตราการเจริญพันธุ์ หรือการมีลูกที่ลดต่ำลง การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคตอันใกล้

ที่มา: 1, 2