น้ำตาล และไขมันเป็นวัตถุดิบที่พบได้ในของอร่อยแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำหวาน เค้ก ขนมไทย ของทอด หรือข้าวหมูกรอบ ซึ่งอย่างที่รู้กันดีว่าการได้รับสารอาหารพลังงานสูง อย่างน้ำตาล และไขมันเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้หลายชนิด ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้ว่าทำไมมนุษย์ถึงหลงใหลในสารอาหารทั้งสองชนิดเหลือกัน

แม้ปัจจุบันจะมีทฤษฎี และข้อมูลมากมายเกี่ยวกับความอยากน้ำตาล และไขมันที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ เช่น เป็นผลจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในยุคโบราณ หรือเป็นเพราะพันธุกรรมบางอย่าง การศึกษาล่าสุดจาก Monell Chemical Senses Center ศูนย์วิจัยในสหรัฐฯ ได้ค้นพบวงจรประสาทชุดใหม่ที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้ไปยังสมองของหนูทดลองที่มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความอยากน้ำตาล และไขมันโดยเฉพาะ ซึ่งสัตว์ชนิดอื่น อย่างมนุษย์ก็อาจมีด้วยเช่นเดียวกัน

โดยวงจรชุดนี้ แยกเส้นประสาทที่กระตุ้นความอยากน้ำตาล และความอยากไขมันออกจากกัน ทีมนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบดูเซลล์ประสาทในระบบประสาทเวกัส (Vagus nerve system) ของหนูที่เชื่อมต่อสมองกับอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงลำไส้ พบว่าเซลล์ประสาทที่ค้นพบใหม่นี้กระตุ้นให้สมองหลั่งสารที่ชื่อ ‘โดปามีน’ (Dopamine) หรือฮอร์โมนความสุขออกมาในระบบให้รางวัล (Brain reward system) ของสมอง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกดี ดีใจ หรือได้รับความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ ในมนุษย์เองก็ค้นพบมาแล้วว่าเหตุผลหนึ่งที่มนุษย์ชอบกินของหวานก็เป็นผลมาจากการหลั่งโดปามีนทุกครั้งที่ได้รับน้ำตาล จนเกิดภาวะเสพติด

ทีมนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นวงจรประสาทชุดนี้ในหนู ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ หนูที่ถูกกระตุ้นตื่นตัว และเริ่มมองหาอาหาร ซึ่งทำให้ค้นพบว่าเส้นประสาทที่กระตุ้นให้เกิดความอยากน้ำตาล และไขมันนั้นแยกกัน คาดกันว่าที่ทั้ง 2 ส่วนนี้แยกออกจากกันก็เพราะว่าเมื่อร่างกายขาดสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง จะได้กระตุ้นความอยากได้แบบเจาะจงมากขึ้น

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เมื่อวงจรประสาททั้ง 2 ส่วนถูกกระตุ้นพร้อมกัน จะทำให้เกิดความอยากอาหารมากกว่าการถูกกระตุ้นแค่เส้นประสาทใดเส้นประสาทหนึ่ง และหากหนูเจ้าของร่างกายทำตามความอยากด้วยการหาอาหารที่มีความหวาน และไขมัน สมองจะหลั่งโดปามีนออกมามากกว่าปกติ และทำให้หนูกินมากขึ้นกว่าเดิม

ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าความอยากที่ถูกกระตุ้นโดยวงจรประสาทที่พบเหล่านี้อาจอยู่ภายใต้จิตสำนึก และทำให้ร่างกายเกิดความอยากน้ำตาล และไขมันแบบไม่รู้ตัว ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่าทำไมการงดของหวาน ของทอด ของมัน รวมถึงการคุมอาหารถึงเป็นเรื่องยาก และเกิดภาวะที่ตัดสินใจกินอาหารเหล่านี้อย่างขาดสติ

แม้ว่าจะเป็นการค้นพบวงจรประสาทในหนู แต่ก็เป็นไปได้ที่มนุษย์จะมีวงจรประสาทในลักษณะเดียวกัน ซึ่งทีมนักวิจัยคาดว่าการศึกษา และทำความเข้าใจวงจรประสาทชุดนี้อาจช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการรักษาโรคอ้วน และการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์เพื่อดูแล และรักษาสุขภาพ

ที่มา Sciencedaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส