การเป็นสามีภรรยากัน ไม่ได้หมายความว่าการทำทุกอย่างร่วมกันจะเวิร์กเสมอไป ซึ่งอาจรวมถึงการออกกำลังกายด้วย การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ประเทศสิงคโปร์พบว่าการออกกำลังกายร่วมกับสามีหรือภรรยาส่งผลให้ออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวลดลง และต่ำกว่าคนที่ออกกำลังกายคนเดียว

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าผู้สูงอายุที่ใช้ Fitness tracker อุปกรณ์ที่ติดตามก้าวเดิน การเคลื่อนไหว อัตราการเต้นของหัวใจ และระยะเวลาในการออกกำลังกาย ที่แจ้งผลแบบเรียลไทม์มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวมากกว่า

การศึกษานี้ทำในผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์จำนวน 250 คนที่มีอายุระหว่าง 54 ถึง 72 ปี โดยผู้เข้าร่วมมีอายุเฉลี่ย 60 ปี มีสถานะแต่งงาน หรืออยู่กินร่วมกันเฉลี่ย 30 ปีเป็นเวลา 12 สัปดาห์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เนื่องจากการเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศสิงคโปร์ที่เพิ่มมากขึ้น

ทีมนักวิจัยได้แบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษานี้ออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 ออกกำลังกายเป็นคู่ ที่ Fitness tracker รายงานผลออกกำลังกายแบบเรียลไทม์
  • กลุ่มที่ 2 ออกกำลังกายเป็นคู่ ที่ Fitness tracker ไม่รายงานผลออกกำลังกาย
  • กลุ่มที่ 3 ออกกำลังกายคนเดียว ที่ Fitness tracker รายงานผลออกกำลังกายแบบเรียลไทม์
  • กลุ่มที่ 4 ออกกำลังกายคนเดียว ที่ Fitness tracker ไม่รายงานผลออกกำลังกาย

ผลลัพธ์ของการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมการทดสอบมีการเคลื่อนไหวเฉลี่ยในระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 ก้าว ซึ่งกลุ่มคู่สามีภรรยาที่ออกกำลังกายแบบเป็นคู่มีประสิทธิภาพการออกกำลังกายที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายคนเดียว

โดยทีมนักวิจัยคาดว่าเป็นผลมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคู่สามีภรรยาที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปี การเปลี่ยนหรือสร้างพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากเดิมร่วมกัน อย่างการออกกำลังกายจึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคู่สามีภรรยา

อีกหนึ่งผลลัพธ์ของการศึกษานี้ที่ทีมนักวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีการใช้ Fitness tracker ที่มีการรายงานผลให้กับตัวผู้สูงอายุแบบเรียลไทม์มีค่าเฉลี่ยของก้าวเดินในแต่ละวันที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ Fitness tracker ราว 7,500 ถึง 10,000 ก้าว

โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเป็นผลจากการบรรลุความสำเร็จในการเคลื่อนไหวที่จับต้องได้ช่วยให้ผู้ที่สวมใส่ และได้รับฟีดแบ็กการเคลื่อนไหวของตนเองในรูปแบบของรางวัล หรือคำชมช่วยเสริมแรงด้านจิตวิทยา และช่วยกระตุ้นการให้เกิดพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น แต่การรายงานผลแบบเรียลไทม์ส่งผลเฉพาะคนกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 5,000 ก้าว และกลุ่มที่เคลื่อนไหวมากกว่า 15,000 ยังไม่พบผลลัพธ์แบบเดียวกัน

ผลการศึกษาชิ้นนี้ขัดกับการศึกษาในลักษณะเดียวกันชิ้นก่อนที่เคยพบว่าการออกกำลังกายเป็นคู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลดีต่อการออกกำลังกาย ซึ่สถานะของคู่ออกกำลังกายอาจมีผลต่อการพฤติกรรม นอกจากนี้ การสวม Fitness tracker อย่างสมาร์ตวอตช์ หรือสารรัดออกกำลังกายที่มีฟังก์ชันรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์อาจช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้สูงอายุได้

ที่มา: Tanfonline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส